วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

วิถีแห่งเต๋า

เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ


บทที่ 1 – 5 ของคัมภีร์เต๋า

บอกกล่าวถึงเต๋าอันสูงสุด การเกิดขึ้นของสิ่งต่างๆ การปกครองของปราชญ์ รูปลักษณ์แห่งเต๋า และประโยชน์ของสูบลม ล้วนแล้วแต่กล่าวถึงความว่างและความไม่มี ให้ชีวิตแก่สรรพสิ่ง แต่มิได้ถือตัวเป็นเจ้าของ ประกอบกิจอันยิ่งใหญ่ แต่มิได้ประกาศให้โลกรู้ เหตุที่ท่านไม่ปรารถนาในเกียรติคุณ เกียรติคุณของท่านจึงดำรงอยู่ไม่สูญสลาย ในบทที่ 2 และในบทที่ 5 สูบลมมีประโยชน์ เพราะว่าง ยิ่งพูดมากยิ่งไร้ประโยชน์ พูดมากคำยิ่งเหน็ดเหนื่อย มิสู้เก็บคุณค่านั้นไว้แต่เพียงภายใน ซึ่งเป็นเรื่องที่จริงอย่างยิ่ง เพราะคำพูดมักจะเป็นบ่อเกิดของความเข้าใจผิด(เหมือนอย่างที่สุนัขจิ้งจอกพูดกับเจ้าชายน้อยในบทที่ 21)โดยมิต้องสงสัย

บทที่ 1 เต๋าอันสูงสุด

เต๋าที่อธิบายได้มิใช่เต๋าอันอมตะ ชื่อที่ตั้งให้กันได้ก็มิใช่ชื่ออันสูงส่ง เต๋านั้นมิอาจอธิบายและมิอาจตั้งชื่อ เมื่อไร้ชื่อทำฉันใดจักให้ผู้อื่นรู้ ข้าพเจ้าขอเรียกสิ่งนั้นว่า " เต๋า " ไปพลางๆ เมื่อไร้นามไร้สภาวะจึงเป็นบ่อเกิดแห่งฟ้าและดิน เมื่อมีนามมีสภาวะจึงเป็นมารดาแห่งสรรพสิ่ง ดำรงตนอยู่ในความไร้สภาวะ จึงทราบบ่อเกิดแห่งจักรวาล ดำรงตนอยู่ในสภาวะ ย่อมแลเห็นปรากฏการณ์ที่ถูกสร้างสรรค์ ทั้งความมีและความไร้ มีบ่อเกิดแห่งเดียวกัน แต่แตกต่างกันเมื่อปรากฏออก บ่อเกิดนั้นสุดแสนล้ำลึก ความลึกล้ำสุดแสนนั้น คือประตูที่เปิดไปสู่ความรู้แจ้งแห่งสรรพชีวิต


บทที่ 2 สิ่งต่างๆอุบัติขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ

เมื่อคนในโลกรู้จักความสวยว่าสวย ความน่าเกลียดก็อุบัติขึ้น เมื่อคนในโลกรู้จักความดีว่าดี ความชั่วก็อุบัติขึ้น มีกับไม่มี เกิดขึ้นด้วยการรับรู้ ยากกับง่าย เกิดขึ้นด้วยความรู้สึก ยาวกับสั้น เกิดขึ้นด้วยการเปรียบเทียบ สูงกับต่ำเกิดขึ้นด้วยการเทียบเคียง เสียงดนตรีกับเสียงสามัญ เกิดขึ้นด้วยการรับฟัง หน้ากับหลัง เกิดขึ้นด้วยการนึกคิด ดังนั้นปราชญ์ย่อม กระทำด้วยการไม่กระทำ เทศนาด้วยการไม่เอ่ยวาจา การงานทั้งหลายก็สำเร็จลุล่วงลง ท่านให้ชีวิตแก่สรรพสิ่ง แต่มิได้ถือตัวเป็นเจ้าของ ประกอบกิจอันยิ่งใหญ่ แต่มิได้ประกาศให้โลกรู้ เหตุที่ท่านไม่ปรารถนาในเกียรติคุณ เกียรติคุณของท่านจึงดำรงอยู่ไม่สูญสลาย


บทที่ 3 การปกครองของปราชญ์

มิได้ยกย่องคนฉลาด ประชาราษฎร์ก็จะไม่แก่งแย่งชิงดี มิได้ให้คุณค่าแก่สิ่งของที่หายาก ประชาราษฎร์ก็จะไม่ลักขโมย ขจัดตัวตนแห่งความอยาก ดวงใจแห่งประชาราษฎร์ก็จะบริสุทธิ์ ดังนั้นปราชญ์ย่อมปกครองโดย ทำให้จิตใจของประชาราษฎร์ ว่าง สะอาด บำรุงเลี้ยงให้อิ่มหนำ ตัดทอนความทะยานอยาก เสริมสุขภาพแห่งร่างกาย ความคิดและความปรารถนาของประชาราษฎร์ ก็จะถูกชะล้างให้บริสุทธิ์ คนฉ้อฉลก็มิอาจหาญ เข้ากระทำการทุจริต ปราชญ์ย่อมปกครอง โดยการไม่ปกครอง ดังนี้ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็จะถูกปกครอง และดำเนินไปอย่างมีระเบียบ


บทที่ 4 รูปลักษณ์แห่งเต๋า

เต๋านั้นคือความเวิ้งว้าง แต่คุณประโยชน์ของเต๋ามิรู้สิ้นสุด คล้ายต้นกำเนิดของน้ำพุแห่งสรรพสิ่ง ลึกสุดหยั่งคาด เวียนวน ยุ่งเหยิง ซับซ้อน แผ่วเบา แจ่มกระจ่างดุจแก้วผลึก ใสสะอาดดุจน้ำอันสงบนิ่งข้าพเจ้ามิรู้ว่าเต๋ากำเนิดจากแห่งใด คล้ายกับดำรงอยู่ก่อนธรรมชาติ


บทที่ 5 ประโยชน์ของสูบลม

ฟ้าดินนั้นไร้เมตตาปฏิบัติคล้ายดั่งสรรพสิ่งเป็นหุ่นฟาง ปราชญ์นั้นไร้เมตตาปฏิบัติคล้ายดั่งผู้คนเป็นหุ่นฟางแท้จริง ฟ้า ดิน และปราชญ์ มิได้ไร้เมตตา เมตตานั้นมีอยู่ เพียงแต่ไม่เข้าไปก้าวก่ายในสรรพสิ่งทำตนว่างเหมือนสูบลม มีความว่างและความไร้ ครั้นเคลื่อนไหวกลับให้พละกำลังยิ่งพูดมากยิ่งไร้ประโยชน์ พูดมากคำยิ่งเหน็ดเหนื่อย มิสู้เก็บคุณค่านั้นไว้แต่เพียงภายใน


หมายเหตุ ปัจจุบัน คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” มีอิทธิพลต่อในทุกสังคมทั่วโลก ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง กฎหมาย ธุรกิจ และการครองเรือน มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 250 สำนวน สำหรับ วิถีแห่งเต๋า ฉบับนี้เป็นคำแปลของคุณ พจนา จันทรสันติ ที่แปลจากภาษาอังกฤษผนวกกับความรู้ของผู้แปล ทำให้ได้ใจความสวยคม เข้าใจง่ายและอ่านรู้เรื่องที่สุด หนังสือวิถีแห่งเต๋าตอนนี้หาซื้อยากแล้วค่ะ โชคดี หากเจอใน pantown.com โดยคุณ: เซโร่ [23 พ.ค. 51 8:33] ได้กรุณารวบรวมมาโพสต์ไว้เพื่อประโยชน์แพร่หลาย ขอขอบคุณอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้ค่ะ

credit : วิถีแห่งเต๋า แปลโดย พจนา จันทรสันติ