วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

ไม่มีหายนะใดยิ่งใหญ่กว่า...ความไม่รู้จักพอ (บทที่ 45 - 65)

ไม่มีหายนะใดยิ่งใหญ่กว่าความไม่รู้จักพอ ไม่มีภัยพิบัติใดยิ่งใหญ่กว่าความโลภข้อห้ามยิ่งมาก ประชาราษฎร์ยิ่งยากจน อาวุธยิ่งแหลมคม ประเทศยิ่งวุ่นวายสับสน… … … …พยายามค้นหาคนชั่วและให้อภัย… … … …จัดการกับสิ่งที่ยุ่งยากขณะที่ยังง่าย จัดการกับสิ่งที่ใหญ่ขณะที่ยังเล็ก (บทที่ 45 - 65)


บทที่ 46 ม้าลากเกวียน

เมื่อโลกดำเนินไปตามหนทางแห่งเต๋า ม้าฝีเท้าจัดก็ถูกนำมาใช้ลากเกวียน เมื่อโลกมิได้ดำเนินไปตามหนทางแห่งเต๋า ม้าศึกก็ถูกขับขี่ลาดตระเวนอยู่นอกเมือง ไม่มีหายนะใดยิ่งใหญ่กว่าความไม่รู้จักพอ ไม่มีภัยพิบัติใดยิ่งใหญ่กว่าความโลภ ดังนั้น สำหรับผู้ที่รู้จักพอ ความพอนั้นจะทำให้มีพอไปตลอดชีวิต



บทที่ 47 หยั่งรู้

โดยมิได้ย่างก้าวออกนอกประตู ก็อาจรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก
โดยมิได้มองออกนอกหน้าต่าง ก็อาจเห็นเต๋าแห่งสรวงสวรรค์
ยิ่งเดินทางแสวงหาไกลออกไปเท่าใด ยิ่งรู้น้อยลงเท่านั้น
ดังนั้นปราชญ์.. อาจรู้โดยมิต้องเดินทาง
อาจเข้าใจ...โดยมิต้องมองเห็น อาจสัมฤทธิ์ผลโดยมิต้องกระทำ



บทที่ 48 ความรู้ฝ่ายเต๋า

ผู้ศึกษาความรู้ฝ่ายโลก ก็จะได้เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน
ผู้ศึกษาความรู้ฝ่ายเต๋า ก็จะสูญหายลดน้อยลงทุกวัน
ลดหายไป ลดหายไป จนถึงภาวะแห่งการไม่กระทำ
และโดยภาวะแห่งการไม่กระทำนี้เอง
ทุกสิ่งทุกอย่างก็ได้ถูกทำขึ้น และสำเร็จเรียบร้อยลง
ผู้เป็นหลักแห่งโลก ประกอบกรณียะโดยการไม่กระทำ
แต่หากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยก็จะไม่มีการใดสำเร็จผลลงได้เลย



บทที่ 49 ปราชญ์

ปราชญ์มิได้ใส่ใจในตน ท่านถือเอาผู้อื่นเปรียบประดุจตัวท่าน
กับคนดีข้าพเจ้าก็ทำดีด้วย กับคนชั่วข้าพเจ้าก็ทำดีด้วย
ทั้งนี้เพื่อให้เขาเปลี่ยนเป็นคนดี กับคนมีสัจจะข้าพเจ้าก็เชื่อถือ
กับคนไร้สัจจะข้าพเจ้าก็ยังเชื่อถือ ทั้งนี้เพื่อให้เขาเปลี่ยนเป็นคนมีสัจจะ
ปราชญ์อยู่ในโลกอย่างสงบกลมกลืน มีใจกรุณาต่อทุกผู้คน คนในโลกก็จะมีน้ำใจดีงาม
ท่านดูแลประชาชนเหมือนดังบุตรของตน


บทที่ 50 อาณาจักรแห่งความตาย

เมื่อมนุษย์ก้าวผ่านพ้นชีวิต เขาก็ย่างก้าวไปสู่ความตาย อวัยวะแห่งชีวิตมีอยู่สิบสาม
อวัยวะแห่งความตายก็มีอยู่สิบสามเช่นกัน และสิ่งที่ทำให้ถึงแก่ความตายได้
ก็คืออวัยวะทั้งสิบสามนี้เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะความพยายามอย่างแรงกล้า ที่จะรักษาชีวิตไว้นั่นเอง
มีคำกล่าวว่าผู้ที่รู้จักรักษาชีวิตของตนนั้น เมื่อเดินทางอยู่บนแผ่นดินจะไม่พบแรดหรือเสือ
เมื่ออยู่ในสนามรบจะไม่บาดเจ็บด้วยอาวุธร้าย นอของแรด เล็บของเสือ คมของอาวุธ
ไม่อาจแผ้วพานเขาได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เหตุว่าเขาได้หลุดพ้น จากอาณาจักรแห่งความตายแล้ว



บทที่ 51 คุณความดีอันล้ำลึก

เต๋าให้กำเนิดแก่สรรพสิ่ง คุณธรรมให้การบำรุงเลี้ยง วัตถุธาตุให้รูปทรง สิ่งแวดล้อมช่วยทำให้สมบูรณ์ดังนั้นสรรพสิ่งในสกลจักรวาล จึงเทิดทูนเต๋าและยกย่องคุณธรรม เต๋าได้รับการเทิดทูนและคุณธรรมได้รับการยกย่อง มิใช่ด้วยการบังคับขู่เข็ญของผู้ใด แต่เป็นไปด้วยตนเอง เต๋าให้กำเนิด คุณธรรมให้การบำรุงเลี้ยง ทำให้สรรพสิ่งเติบโตแผ่ขยาย ให้สถานที่พักอาศัย เลี้ยงดู และปกปักรักษา ให้กำเนิดแต่มิได้ครอบครอง บำรุงเลี้ยงแต่มิได้ถือเป็นความดี มีความยิ่งใหญ่แต่มิได้เข้าบังคับบัญชา นี่คือคุณความดีอันล้ำลึก



บทที่ 52 ปิดประตูแห่งตน

มีต้นกำเนิดแห่งจักรวาล อันอาจถือได้ว่าเป็นมารดาแห่งสรรพสิ่ง
จากต้นกำเนิดนี้เราก็อาจรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็สามารถสงวนรักษาต้นกำเนิดไว้ได้
ดังนั้นตลอดชีวิตของผู้ที่ปฏิบัติดังนี้ ย่อมรอดพ้นจากภัยทั้งปวง กั้นช่องว่างรอยโหว่แห่งตน
ปิดประตูแห่งตน ตลอดชีวิตจะไม่พบกับความยุ่งยาก เปิดช่องว่างแห่งตน
วุ่นวายอยู่กับกิจธุระการงานตลอดชีวิตไม่มีทางรื้อฟื้นคืนดี
ผู้ที่อาจแลเห็นสิ่งเล็กน้อยได้ เรียกว่ามีสายตาแหลมคม
ผู้ที่รักษาความอ่อนโยนไว้ได้ เรียกว่ามีความแข็งแกร่ง
ใช้แสงสว่างภายนอก สาดส่องเข้าไปจนถึงความเห็นแจ้งภายใน
นี่จึงช่วยให้พ้นจากหายนะ และนี่จึงอาจเรียกว่า " การดำเนินตามวิถีแห่งเต๋าอันอมตะ "



บทที่ 57 การปกครอง

ปกครองอาณาจักรด้วยธรรม ทำศึกด้วยเพทุบาย มีชัยต่อโลกโดยการไม่กระทำ เหตุใดข้าพเจ้าจึงทราบดังนี้ จากสิ่งเหล่านี้คือ ข้อห้ามยิ่งมาก ประชาราษฎร์ยิ่งยากจน อาวุธยิ่งแหลมคม ประเทศยิ่งวุ่นวายสับสน วิทยาการยิ่งมีมาก สิ่งประดิษฐ์ยิ่งแปลกประหลาด กฎหมายยิ่งมีมาก โจรผู้ร้ายยิ่ง ชุกชุมดังนั้นปราชญ์จึงกล่าวไว้ว่า " ข้าพเจ้ามิได้กระทำ ราษฎรก็ปรับปรุงตนเอง ข้าพเจ้าตั้งตนในความสงบ ราษฎร ก็ประพฤติตนถูกต้อง ข้าพเจ้าไม่เข้ายุ่งเกี่ยว ราษฎรก็ร่ำรวย ข้าพเจ้าไร้ความทะยานอยาก ราษฎรก็มีความสามัญและซื่อสัตย์ "



บทที่ 58 รัฐบาลที่เกียจคร้าน

เมื่อรัฐบาลเกียจคร้านและโง่เขลา ราษฎรก็มีความสุขและรุ่งเรือง เมื่อรัฐบาลฉลาดและเข้มงวด
ราษฎรจะไม่ได้รับความพอใจ และความสงบสุข หายนะคือหนทางของโชคลาภ
โชคลาภคือสิ่งปกปิดของหายนะ ใครจะรู้ผลในบั้นปลายของมัน เพราะมันไม่เคยมีหลักที่แน่นอน
ใครจะรู้ถึงคุณลักษณะของรัฐบาลที่ดี อาจเป็นได้ด้วยการไม่เข้ายุ่งเกี่ยวขัดขวาง มิฉะนั้นธรรมะก็จะกลายเป็นเล่ห์ลวง ความดีก็จะกลายเป็นความชั่ว ผู้คนโง่งมในสิ่งเหล่านี้มานานแล้ว
ถึงแม้ปราชญ์จะมีหลักการที่มั่นคง ท่านก็มิได้เที่ยวฟาดฟันผู้อื่น มีความถูกต้องดีงาม แต่ก็มิได้ข่มผู้อื่น มีความชาญฉลาด แต่ก็มิได้ต้อนผู้อื่นให้อับจน



บทที่ 59 หลักการสงวนกำลัง

ในการบริหารกิจการบ้านเมือง ไม่มีหลักการบริหารใดดีไปกว่าการสงวนกำลังสงวนกำลังไว้เท่ากับเตรียมตัวพร้อมก่อน เตรียมตัวพร้อมก่อนเท่ากับเพิ่มพูนความเข้มแข็งเพิ่มพูนความเข้าแข็งเท่ากับได้ชัยตลอดกาล ได้ชัยตลอดกาลจึงมีความสามารถอันสุดหยั่งคาด
มีความสามารถสุดหยั่งคาดจึงเหมาะที่จะปกครองประเทศ และหลักแห่งการบริหารประเทศนี้ย่อมยืนนาน นี่คือรากฐานอันมั่นคง เป็นพละกำลังอันกล้าแข็ง เป็นหนทางไปสู่ความยั่งยืนและอมตะ




บทที่ 60 ปกครองประเทศ


ปกครองประเทศใหญ่เหมือนทอดปลาตัวน้อย พิถีพิถันระมัดระวังแต่ไม่จำเป็นต้องนานไม่จำเป็นต้องทอดนานปลาก็สุกได้ที่ ทอดปลาตัวน้อยจึงเป็นหลักในการปกครองประเทศใหญ่
ปกครองอาณาจักรด้วยหลักแห่งเต๋า สิ่งชั่วร้ายจะไม่สำแดงอิทธิฤทธิ์มิใช่ว่าอำนาจของสิ่งชั่วร้ายนั้นหมดสูญ แต่เป็นด้วยอำนาจนั้นไม่อาจทำร้ายผู้คนได้อีก
ปราชญ์ก็เช่นกันมิได้ทำร้ายผู้คน ไม่มีใครทำร้ายใคร กระแสธารแห่งคุณความดีก็ไหลหลั่งท่วมท้น



บทที่ 61 ประเทศใหญ่

ประเทศใหญ่ควรเป็นเหมือน ตอนปลายของแม่น้ำใหญ่ อันตั้งอยู่ในที่ต่ำ
ที่ซึ่งสายน้ำเล็กๆไหลมารวมกัน เป็นที่รวมของหมู่ชนในโลก เป็นสตรีเพศของโลก
สตรีมีชัยเหนือบุรุษด้วยอาศัยความสงบ และบรรลุผลด้วยความสงบและความต่ำต้อย
ดังนั้นถ้าประเทศใหญ่ถ่อมตนต่อประเทศเล็ก การถ่อมตนนั่นเองจึงทำให้เหนือกว่า
ผู้วางตนต่ำจึงอาจเข้าครอบครอง ถ้าประเทศเล็กถ่อมตนต่อประเทศใหญ่
ประเทศเล็กก็อาจเข้าครอบครอง มีบ้างเพื่อวางตนต่ำกว่าเพื่อจะได้เข้าครอบครอง
มีบ้างที่ต่ำอยู่แล้วโดยธรรมชาติ และก็ได้ครอบครองโดยธรรมชาติ
สิ่งที่ประเทศใหญ่ต้องการ คือการเข้าปกป้องประเทศอื่น สิ่งที่ประเทศเล็กต้องการ
คือการเข้าอยู่ภายใต้การปกป้อง พิจารณาดูแล้วทั้งสองก็ได้ตามที่ตนปรารถนา
มีลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน อันเกิดจากความต้องการภายใน มิได้ใช้กำลังบังคับข่มขืน
เป็นผลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้นประเทศใหญ่จึงควรตั้งตนไว้ในที่ต่ำ


บทที่ 62 สมบัติของโลก

เต๋าเป็นความลึกลับยิ่งของจักรวาล
เป็นสมบัติของคนดี เป็นที่พักพิงของคนชั่ว
ถ้อยคำของกวีอาจขายได้ที่ตลาด
ความประพฤติอันสูงส่งอาจให้เป็นกำนัล
แม้จะมีคนชั่วอยู่บ้าง เหตุใดต้องไปขับไล่ไสส่ง
ในพิธีขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิ
ในพิธีแต่งตั้งเสนาบดีทั้งสามตำแหน่ง แทนที่จะส่งหยก และรถเทียมม้าสี่ไปให้เป็นบรรณาการ
ส่งเต๋าไปให้เป็นบรรณาการจะดีกว่า
เพราะเป็นสิ่งที่โบราณพากันภาคภูมิใจ
มีคำโบราณได้กล่าวไว้ว่า...
...พยายามค้นหาคนชั่วและให้อภัย ดังนั้นเต๋าจึงอาจนับได้ว่าเป็นสมบัติของโลก


บทที่ 63 ยากกับง่าย

ทำด้วยการไม่กระทำ
ดูแลด้วยการไม่ดูแล
ลิ้มรสด้วยการไม่ลิ้มรส
ถือที่เล็กเสมือนใหญ่
ถือที่น้อยเสมือนมาก
ตอบแทนความชั่วด้วยความดี
จัดการกับสิ่งที่ยุ่งยากขณะที่ยังง่าย
จัดการกับสิ่งที่ใหญ่ขณะที่ยังเล็ก
ปัญหาที่แก้ยากของโลก จะต้องแก้ไขขณะที่ยังง่ายอยู่
ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของโลก จะต้องแก้ไขขณะที่ยังเล็กอยู่
ดังนั้น การที่ปราชญ์ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานใหญ่ งานอันยิ่งใหญ่ก็สำเร็จลง
ผู้ให้คำสัตย์สาบานง่ายดายเกินไป ยากนักที่จะรักษาคำมั่นสัญญานั้น
ผู้ที่มองเห็นหลายสิ่งหลายอย่างว่าง่าย จะพบความยากลำบากเมื่อภายหลัง
ดังนั้นปราชญ์จึงพิเคราะห์สิ่งต่างๆ ว่ายากลำบาก
และด้วยเหตุนั้นท่านจึงมิได้รับความยากลำบากใดๆ เลย



บทที่ 64 เริ่มทำเมื่อยังง่าย

สิ่งที่อยู่นิ่ง ง่ายที่จะเก็บรักษาไว้ สิ่งที่ยังไม่เกิด ง่ายที่จะป้องกัน
สิ่งที่อ่อนนุ่ม ง่ายที่จะฉีกขาด สิ่งที่บางเบา ง่ายที่จะปลิวฟุ้ง
จัดการก่อนที่เหตุจะเกิด จัดระเบียบก่อนที่จะยุ่งเหยิง
ไม้ใหญ่เต็มโอบเริ่มจากหน่อเล็ก เก๋งสูงเก้าชั้นเริ่มจากก้อนดิน
ทางไกลพันลี้เริ่มจากการเดินหนึ่งก้าว
ผู้ที่ทำจะล้มเหลว ผู้ที่จับยึด จะลื่นหลุด
ด้วยปราชญ์มิได้กระทำ จึงไม่ล้มเหลว
มิได้จับยึด จึงไม่ลื่นหลุด
กิจการงานของผู้คนมักจะล้มเหลวเมื่อใกล้สำเร็จ
ด้วยการใช้ความระมัดระวังในตอนท้าย ให้เท่ากับเริ่มแรกความล้มเหลวย่อมจะไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น...ปราชญ์ย่อมปรารถนาในสิ่งที่คนอื่นไม่พึงปรารถนา
และไม่ให้คุณค่าแก่จุดหมายที่บรรลุได้ยาก เรียนรู้ในสิ่งที่ผู้อื่นมิได้รู้
รื้อฟื้นในสิ่งที่คนมากมายได้หลงลืม ท่านได้ช่วยทำให้ทุกสิ่งเติบโตและเป็นไปตามธรรมชาติ
แต่มิได้หาญเข้ายุ่งเกี่ยวกับกฎธรรมชาติ



บทที่ 65 รู้ให้น้อย

แต่โบราณมาผู้ที่หยั่งรู้เต๋า มิได้มุ่งหมายที่จะส่งเสริมคนให้รู้มาก
แต่ปล่อยให้จมอยู่กับความโง่งม รู้อยู่แต่สิ่งพื้นๆ และสามัญ
หากประชาราษฎร์รู้มากเกินไปก็ปกครองยาก
ผู้ที่พยายามจะปกครองประเทศด้วยความรอบรู้ มีแต่จะนำความหายนะมาสู่
ผู้ที่ไม่พยายามจะปกครองประเทศด้วยความรอบรู้มีแต่จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่
ผู้ใดรู้หลักทั้งสองนี้ ย่อมรู้ถึงหลักการแต่โบราณ
รักษาหลักการนี้ไว้ในใจ ย่อมได้รับคุณความดีอันใหญ่หลวง
คุณความดีนั้นสุดที่จะกว้างและลึก
ใสสะอาดและยากที่จะไปถึงมันวกกลับไปสู่ต้นกำเนิดแห่งสรรพสิ่ง
ก่อให้เกิดความประสานกลมกลืนอันไม่มีสิ้นสุด



หมายเหตุ ปัจจุบัน คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” มีอิทธิพลต่อในทุกสังคมทั่วโลก ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง กฎหมาย ธุรกิจ และการครองเรือน มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 250 สำนวน สำหรับ วิถีแห่งเต๋า ฉบับนี้เป็นคำแปลของคุณ พจนา จันทรสันติ ที่แปลจากภาษาอังกฤษผนวกกับความรู้ของผู้แปล ทำให้ได้ใจความสวยคม เข้าใจง่ายและอ่านรู้เรื่องที่สุด หนังสือวิถีแห่งเต๋าตอนนี้หาซื้อยากแล้วค่ะ โชคดี หากเจอใน pantown.com โดยคุณ: เซโร่ [23 พ.ค. 51 8:33] ได้กรุณารวบรวมมาโพสต์ไว้เพื่อประโยชน์แพร่หลาย ขอขอบคุณอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้ค่ะ






credit : วิถีแห่งเต๋า แปลโดย พจนา จันทรสันติ


: pantown.com