วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นึกยังไง ไปอินเดีย

ไปอินเดียเนี่ยนะ !!!??? ไปทำอะไรที่อินเดีย รู้หรือเปล่าว่ามันร้อนมาก ๆ .. แล้วจะกินยังไง ...จะนอนที่ไหน ไม่กลัวหรือไง .. คนอินเดียมีหนวดนะ (อันนี้ ฟังแล้วออกแนวงง ๆ ไม่รู้เกี่ยวอะไรกัน) และ @#$#@^8*@%&>$<#~%?? เป็นคำถามที่ ทุกคนที่จะไปอินเดียแล้วเล่าให้คนอื่นฟัง จะต้องเจอ แล้วส่วนใหญ่ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นคำถามและความห่วงใยจากผู้ไม่เคยไปอินเดียแม้สักครั้ง !!! แล้วฉันไม่กลัวเหรอ อืมมม์ กลัวสิ แต่ว่าเรื่องของเรื่องมันมีที่มานี่นา -------------------- หลังจากเกริ่นเรื่องการเดินทางคร่าว ๆ ไปแล้ว ในเรื่อง "นึกยังไงไปอินเดีย" ก็ถึงเวลาเตรียมตัวเดินทาง ไปอินเดียต้องทำวีซ่า Tourist Visa แบบเข้าออกได้หลายครั้ง ค่าธรรมเนียม 1,700 บาท ยื่นขอไม่ยากค่ะ (เพราะให้บริษัททัวร์ยื่นให้) ใช้เวลาประมาณ 3 วัน เอกสารประกอบการขอ ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน แค่มีพาสปอร์ตที่ยังเหลืออายุการใช้งานมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป รูปถ่าย 1 ใบ ค่าธรรมเนีม และแบบฟอร์มการยื่น แค่นี้เองค่ะ ง่ายสุด ๆ แต่ถ้าเราจะไปสังเวชนียสถาน 4 ตำบล เราต้องทำวีซ่าเข้าประเทศเนปาลด้วย เอกสารก็ไช้เหมือน ๆ กันแต่ค่าธรรมเนียมจะเป็น 1,400 บาท รายละเอียดการเดินทางไปอินเดีย มีกูรูด้านท่องเที่ยวด้วยตนเองหลายท่านเขียนไว้ ละเอียดมาก ๆ ค่ะ สำหรับฉัน ตอนผจญภัยไปกันสองคน ก็ใช้หนังสือเที่ยว 4 ตำบลด้วยตนเอง ของ เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย นักเขียนในดวงใจ เป็นคัมภีร์นำทางค่ะ กล่าวเฉพาะเรื่องการเตรียมตัวไปไหว้พระที่อินเดีย จะต้องเตรียมข้าวของที่ปกติเราคงไม่ได้เอาไปเที่ยวด้วยแน่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื่อหรือเบาะรองนั่ง ธูป เทียน ทองคำเปลวและหนังสือสวดมนต์ นี่แค่มือใหม่นะคะ ถ้าไปยิ่งบ่อย ข้าวของก็จะยิ่งมากมายมหาศาล เพราะจะมีทั้งผ้าห่มถวายพระพุทธรูป ณ สถานที่ต่าง ๆ ข้าวสารอาหารแห้งถวายพระสงฆ์ไทย ดอกไม้สด พวงมาลัย สารพัด เหมือนเราเดินทาง ไปทอดผ้าป่าตามวัดที่เมืองไทยนั่นแหละ ข้าวของเบาะรองนั่ง หรือสิ่งอันประดามี เมื่อจะเดินทางกลับ เราถวายซะที่วัดไทย พระสงฆที่จำพรรษช่วยปฏิบัติศาสนกิจจะได้ใช้ประโยชน์ รวมทั้งญาติธรรมผู้ที่เดินทางตามหลังเรามาแสวงบุญในปีถัด ๆ ไป ก็จะได้อานิสงส์โดยถ้วนทั่ว เบากายเวลากลับ แต่รับความอิ่มใจไปเต็ม ๆ วันเดินทาง ช่วงเทศกาลของเส้นทางไหว้พระ คือเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม ถึงสิ้นเดือนมีนาคม มีผู้โดยสารเต็มทุกเที่ยวบิน ทั้งสายการบินไทย และอินเดียนแอร์ไลน์ กำหนดการเดินทางคร่าว ๆ ของเรา เริ่มจากบินตรงกรุงเทพ ฯ ไปลงที่สนามบินคยา ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 ช.ม.เศษ ช่วงที่เดินทางอยู่ ราว ๆ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ อากาศกำลังสบาย เพราะไม่หนาวเกินไปและไม่ร้อนมากนัก (แต่ตอนกลางวันแดดเปรี้ยงแลย) ตั้งหลักด้วยอาหารกลางวันที่โรงแรมในคยา แล้วออกเดินทางต่อไปยังเมืองราชคฤห์ค้าง 1 คืนที่โรงแรม Hokke Rajkr อาหารที่โรงแรมนี้อร่อยมาก มีซุปเต้าเจี้ยวแบบญี่ปุ่นให้บริการด้วยนะ เพื่อขึ้นเขาคิชกูฎในตอนเช้าตรู่ ซึ่งพี่สันติ (เศวตวิมล) คลังความรู้ของคณะเราบอกว่า ยอมตื่นเช้าหน่อย เพื่อจะได้ไม่ร้อน ค่อย ๆ เดิน คนไม่มาก ไม่ต้องแย่งกันไหว้พระสวดมนต์ ไม่ต้องเสียสมาธิเนื่องจากมีคณะผู้แสวงบุญจากที่อื่นมาต่อคิวรอที่จะได้กราบไหว้สถานที่บ้าง แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เราได้สูดอากาศบริสุทธิ์ และได้ดูพระอาทิตย์ขึ้น ที่สำคัญไม่ร้อนและไม่หงุดหงิดจิตตกเลย












ธงมนตราหลายสีบนยอดเขาและระหว่างทางขึ้นเขาคิชฌกูฎตามศรัทธาของชาวพุทธธิเบต เนปาลที่ซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นว่าสายลมแห่งความศรัทธาจะโบกโบยมนตราบนผืนธงให้ล่องลอยไปสืบทอดพระพุทธศาสนา แม้หนทางจะยาวไกล ดังนั้น ความยากไร้และความลำบาก จึงไม่เคยเป็นอุปสรรค ต่อจากนั้นเราไปที่มหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทา ที่เคยยิ่งใหญ่ในครั้งที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองในดินแดนอนุทวีป แต่แล้วก็เช่นเดียวกับสรรพสิ่งในโลก ที่ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ก่อนถึงวาระสุดท้ายของนาลันทา มหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่มอดไหม้ด้วยน้ำมือของคนต่างศาสนิกแล้ว ก่อนหน้านั้นตามลำดับเพียงไม่นาน นาลันทา ได้ค่อย ๆ เสื่อมลงอย่างต่อเนื่องจาก การกระทำและความคิดของพุทธศาสนิกชนและพระสงฆ์ในขณะนั้นนั่นเอง นาลันทา มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่เคยยิ่งใหญ่รุ่งเรืองในอดีต สถูปพระสารีบุตร พระอัครสาวกผู้เป็นเลิศด้านสติปัญญา จากกรุงราชคฤห์ เราย้อนกลับมาที่พุทธคยา มาไหว้พระพุทธเมตตา ในวิหาร เพื่อขอพรจากท่าน สำหรับช่วงเทศกาล เราจะเห็นผู้แสวงบุญจากประเทศต่างๆ จะพากันเดินทางมายังพุทธคยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนมกราคม จะมีชาวทิเบตเดินทางมาตั้งแคมป์อยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อรอเข้าเฝ้าองค์ดาไลลามะ ซึ่งจะเสด็จมายังพุทธคยาเป็นประจำในช่วงเดือนมกราคม











เจดีย์พุทธคยา ยามบ่าย ที่วัดพุทธคยา เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้ากราบไหว้ สวดมนต์ นั่งวิปัสสนา ตั้งแต่ตี 5 จนถึง 3 ทุ่ม หากใครต้องการจะนั่งสวดมนต์ หรือปฏิบัติภาวนาภายในวัด หรือบริเวณโคนต้นพระศรีมาหโพธิ์ตรัสรู้ ตลอดทั้งคืนก็สามารถทำได้ โดยต้องไปลงทะเบียนกับทางวัดให้เรียบร้อย หลังจากนั้นห้ามเปลี่ยนใจ เพราะหลัง 3 ทุ่มประตูจะปิด และเปิดขึ้นอีกครั้งตอนตี 5 ของวันรุ่งขึ้น คณะของเราค้างคืนที่พุทธคยา 1 คืน (ที่โรงแรมใกล้ ๆ วัดพุทธคยา)




แล้วเดินทางต่อไปยังเมืองพาราณสี เพื่อล่องแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ และน่าตื่นตาตื่นใจ แม้จะแอบงง ๆ อยู่เหมือนกันนะว่าเราจะไปดูเขาเผาร่างคนตายกันทำไมเนี่ย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถึง ฆัต หรือท่าที่ใช้เผาร่างผู้ล่วงลับ เราก็ได้สัมผัสกับความเป็นอนิจจังอย่างชนิดเผาขน ขณะรถติดแนบชิดกับรถบรรทุกร่างผู้เสียชีวิต ที่แม้จะห่อผ้าเหลืองประดับประดาด้วยสิ่งประดามีอย่างมิดชิด แต่ก็สร้างความพรั่นพรึงให้กับหญิงช่างจินตนาการอย่างฉันได้อย่างขนหัวลุก คงคา มหานทีแห่งชีวิต




เราได้ลอยกระทงในแม่น้ำคงคาของจริงด้วยนะ เป็นกระทงน้อย ที่เด็ก ๆ พายเรือ(เกาะติดเป็นเรือพ่วง จนกว่าเราจะเห็นใจในความพยายาม หรือไม่ก็รำคาญจนต้องซื้อนั่นแหละ) กระทงที่ว่านี้ ทำด้วยใบตองแห้ง มีขี้ผึ้งหยอดไว้ที่ก้น มีใส้เทียนแล้วก็ประดับดอกไม้เล็ก ๆ น่ารักมาก ๆ (กระทงนะที่น่ารัก ไม่ใช่คนขาย) จากนั้นก็ไปซื้อผ้าไหมที่เลืองชื่อของพาราณสี เรียนกว่า ผ้ากาสี สวยดี ซื้อมาเยอะเลย ราคาไม่แพงด้วย






ตอนเช้าเราเดินทางต่อไปสารนาถ สถานที่แสดงปฐมเทศนา ออกจากสารนาถ และพาราณสี เป็นอีกหนึ่งช่วงที่ต้องนั่งรถกันยาวนานมาก เพราะเราจะไปที่กุสินารา เพื่อไปกราบพระพุทธปรินิพพาน สถานที่นี้มีบรรยากาศที่ชวนเศร้าอย่างมากจริง ๆ มีวัดไทยด้วย เป็นวัดที่ใหญ่โตสวยงามมาก ท่านเจ้าคุณวีรยุทธ หัวหน้าคณะธรรมทูตสายประเทศอินเดีย เล่าให้ฟังว่า ท่านประสงค์จะสร้างสาถนพยาบาลหรือคลีนิค หรือจะเรียกให้หรูว่าโรงพยาบาลก็ได้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนญาติโยมไทย ซึ่งเดินทางมากราบไหว้พุทธสถาน ณ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติธรรม เจริญภาวนาด้วย โดยการทำคลีนิคในลักษณะของ Body & Mind รักษาทั้งสุขภาพกายและส่งเสริมความแข็งแรงเป็นภูมิคุ้มใจให้กับผู้เดินทางแสวงบุญด้วย ซึ่งฉันว่าเป็นความคิดที่ดีมาก แต่ที่จริงแล้ว ท่านเจ้าคุณท่านมีความคิดที่เฉียบคมและแปลกใหม่อยู่เสมอนะ ต้องลองไปหาหนังสือพลิกกองอิฐ สะกิดปัญญา ซึ่งท่านเจ้าคุณเขียนไว้ มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจมาก









ตอนเช้า เราไปยังสถานที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพาน เป็นสถานที่ที่พอก้าวเท้าเข้าไป ก็จะรู้สึกถึงความโศกเศร้า และสะเทือนใจ ภายในวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพาน เต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนชาวพุทธศรีลังกา พระพุทธปรินิพพาน ประดิษฐานภายในวิหารที่เมืองกุสินารา มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ จากกุสินารา


วันนี้ เราจะเดินทางต่อไปยังลุมพีนี หรือตำบลลุมมินเดร์ ในภาษาเนปาล ตำบลชายแดน ที่พอข้ามแดนปุ๊บ เราจะสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง คือผู้คนจะหน้าตานุ่มนวลขึ้น ผิวพรรณขาวขึ้น ออกแนวทิเบเตี้ยนนิด ๆ สถานที่แห่งนี้ ได้รับการประกาศจากทางการเนปาลให้เป็นสาลวโนทยาน มีการปลูกต้นสาละขึ้นมาใหม่มากมาย ร่มรื่น มีการก่อสร้างวิหารสิริมหามายา มีรูปรอยหลักฐานประวัติศาสตร์ต่าง ๆ และเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช อันปักเด่นไว้เป็นการประกาศสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่ลุมพินี มีวัดไทยด้วย ใหญ่โตสวยงาม มีการจัดสร้างรูปเคารพ ที่เรียกว่า Baby Bhudda ด้วย เป็นรูปเด็กผู้ชาย ก้าวเดินแล้วยกมือขึ้นชี้เบื้องบน ซึ่งเป็นรูปตอนประสูติ มีคนไทยและ ชาวพุทธต่างชาติ มาเช่าไปสักการะบูชากันเป็นจำนวนมาก (รวมทั้งมารดาของฉันด้วย) บริเวณที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ โปรดพุทธมารดา เส้นทางขากลับ เราต้องไปที่เมืองลักเนา (Lucknow) เมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งของอินเดีย เพื่อพักครึ่งทางอีกหนึ่งคืน ก่อนจะเดินทางต่อไปยังเมืองอักรา เพื่อชมทัชมาฮาล สิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกตลอดกาล เวลามองดูทัชมาฮาลครั้งใด ฉันอดิดไม่ได้ว่า บางครั้ง ความมหัศจรรย์อาจจะไม่ได้ตีราคาที่แบบ ความยากเย็นวิจิตบรรจง จนเป็นที่มาของค่างวดของวัตถุที่ถูกสร้างขึ้น แต่ฉันว่า ความมหัศจรรรย์มันอาจจะอยู่ที่ ความรักของคนคนหนึ่ง ที่ยิ่งใหญ่ขนาดที่จะสร้างอะไรที่มันมโหฬารพันลึกแบบนี้ขึ้นมาได้ ต่างหาก วันที่เราจะขึ้นเครื่องบินเดินทางไปที่กรุงเดลี เมืองหลวง เราไปชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของอินเดีย เพื่อกราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า ที่ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้ บนบุษบกทองคำที่รัฐบาลไทยจัดทำถวาย ถ้าใครไปเมืองหลวงเดลี ก็ควรหาโอกาสแวะไปกราบไหว้เพื่อสิริมงคล เส้นทางการไปไหว้สังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่งที่อินเดียก็มีอยู่ราว ๆ นี้ ไปแล้วได้อะไร มีหลายคนถาม อันนี้ตอบยากเหมือนกัน แต่ที่แน่ ๆ สำหรับคนห่างวัดอย่างฉัน การได้ไปถึงยังสถานที่ที่เคยได้แต่อ่าน หรือฟังเขาเล่ามา พอได้มาสัมผัสสถานที่อันมีอยู่จริง การได้รับฟังสาระสำคัญเกี่ยวกับพุทธประวัติอย่างละเอียด การได้ปุจฉาและรับฟังวิสัชชนาจากพระคุณเจ้า (ซึ่งเป็นพระวิทยากรที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทและเอกที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในอินเดีย) ที่ได้กรุณามาตอบคำถามของคนช่างสงสัย ทำให้คนที่มีปัญญาเท่าหางอึ่งได้ฟังอย่างไม่รู้เบื่อ กับการสวดมนต์ระหว่างการเดินทาง และการสวดบูชานมัสการสถานที่ (มากกว่าที่เคยสวดมนต์ทั้งชีวิตรวมกัน) อีกทั้งการได้อยู่กับแม่และคนที่เรารักตลอดระยะเวลา 10 วัน (อันนี้คิดเองว่าแม่คงดีใจ) ซึ่งเป็นเวลา 10 วันที่มีแต่ฉันและเธอจริง ๆ เพราะหนีไปไหนไม่ได้ จะกลับก่อนก็ต้องคิดหนัก เพราะการเดินทางไม่ได้ง่ายดายชั่วลัดนิ้วมือเหมือนประเทศอื่น ๆ อาหารการกินก็ไม่สะดวกสบาย อร่อยและถูกสุขอนามัยเหมือนประเทศแถบยุโรป แต่ไม่รู้ทำไม เวลาไปอินเดียแต่ละครั้ง ถึงมีความสนุกสนานทุกครั้ง มีความรู้สึกขำ มีความรู้สึกว่าชีวิตก็แค่นี้ มีทุกข์มากกว่าสุข แต่ทุกข์ก็จะต้องมีวันหมดไปไม่จีรังเหมือนกัน มีความรู้สึกอยากคิด อยากให้(แม้จะไม่ค่อยเอ็นดูเด็ก ๆ ขอทานสักเท่าไร)และอยากดูแลผู้อื่น หรือนี่อาจจะเป็นสิ่งที่่พระพุทธเจ้าท่านชี้นำไว้ แล้วเราในฐานะศิษย์ตถาคต ต้องมาติดตามแสวงหากันเอง ได้แค่ไหน ก็แค่นั้น แต่ฉันเชื่อว่า ไม่มีใครกลับไปแบบจิตใจว่างเปล่าแน่นอน