วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2553

6เดือนผ่าน5เดือนต่อ ภารกิจของศอ.บต.วันนี้



ข่าวคราวของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังครอบครองพื้นที่ความทุกข์ในใจคนไทยเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับ ภาณุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้สวมหมวกอีกใบในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และรู้ดีว่าภารกิจนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และคงใช้เวลาไม่น้อย แต่ความพยายามและความตั้งใจในภารกิจและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายดูเหมือนไม่เคยลดลง

หลังจากรับตำแหน่งเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2552 ผอ.ศอ.บต.ทำอะไรไปแล้วบ้าง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และอีก 5 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งจะสิ้นปีงบประมาณ แล้ว ศอ.บต.จะก้าวไปทิศทางไหน เรามีโอกาสพูดคุยกับภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการ ศอ.บต. ถึงเรื่องหลาย ๆ เรื่อง ที่หลาย ๆ คนห่วงใย

ถาม : ถามตรง ๆ ว่า ก่อนที่จะรับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เพราะเคยมีการคาดกันว่า เมื่อประชาธิปัตย์มีโอกาสเป็นรัฐบาล เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และอีก 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา น่าจะคลี่คลายลงบ้าง

ภาณุ : "ท่านนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในสถานการณ์และขอให้ตั้งใจทุ่มเทในการทำงานเต็มที่ ไปเพื่อแก้ปัญหา อย่าให้ใครไปสร้างปัญหาเพิ่มโดยเด็ดขาด สำหรับงานพัฒนาให้เห็นว่าเป็นความต้องการของประชาชนโดยแท้จริงถึงมือประชาชนเต็มเม็ด เต็มหน่วย และประชาชนได้รับประโยชน์จริงๆ อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ท่านนายก ฯ ยังให้เน้นงานบริการประชาชนและการอำนวยความเป็นธรรม รวมทั้งงานบริการการประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจอันดี ทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย"

"เราก็ได้นำนโยบายที่ได้รับมอบ มากำหนดเป็นแนวปฏิบัติของ ศอ.บต. และเพื่อให้เป็นการสื่อถึงความตั้งใจในการทำหน้าที่ของเรา จึงก็ได้กำหนดความหมายของอักษรย่อแต่ละตัว โดย ศ. คือ การทำหน้าที่ศาสนสัมพันธ์ สรรค์สร้างสามัคคี อ.คือ การมอบความอบอุ่นใจและเอื้ออาทรให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ส่วน บ.ก็คือการบริการด้วยใจ ด้วยการบูรณาการงานทุกฝ่าย และต คือ การตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย ให้ความอบอุ่นใจและมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาด้วย"

ถาม : หลังจากทำงานมาแล้ว 6 เดือนกับความหมายที่กำหนดขึ้นแทนความตั้งใจของศอ.บต. ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อม หรือการตอบรับ หรือการรับรู้ในพื้นที่อย่างไรบ้าง

ภาณุ : "เพื่อให้เห็นชัดเจนง่าย ๆ จากลำดับแรก เรื่องของศาสนสัมพันธ์ สรรค์สร้างสามัคคี เราเน้นว่า “ฮัจย์ปีนี้ต้องดีกว่าปีที่ผ่านมา” โดยได้จัดตั้งศูนย์บริการฮัจย์จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น ภายใน ศอ.บต พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ อำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนที่เดินทางไปแสวงบุญและญาติพี่น้อง รวมทั้งการจัดรายการวิทยุ “ฮัจย์สัมพันธ์” ด้วย ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการทำฮัจย์ “ ชาวสวรรค์” แล้ว เราก็เชิญมาร่วมเป็นตัวแทนขับเคลื่อน “ครอบครัวคุณธรรม” ในการพัฒนาฮัจย์ สำหรับพี่น้องชาวไทยพุทธ ก็สนับสนุนให้ไป สักการะสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย และเนปาล ปีละ 100 คนด้วย"

ถาม : แล้วเรื่ององค์กรมุสลิมโลกอย่าง OIC คิดอย่างไรกับปัญหาความไม่สงบของบ้านเรา

ภาณุ : "ในส่วนของการสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศไทยกับมุสลิมโลก ก็ได้รับสัญญาณในทางที่ดี จากผลการประชุม OIC ที่สาธารณรัฐทาจิกิสถาน ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมยอมรับในแนวทางการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสมานฉันท์ การเมืองนำการทหาร และการพัฒนาด้านต่างๆ ในพื้นที่ด้วยดี ซึ่งแนวทางต่อจากนี้ก็คือ การเสริมสัมพันธ์กับองค์กรพิเศษของ OIC หรือองค์กรการประชุมอิสลาม และ ISESCO หรือองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอิสลาม เป็นต้น นอกจากนี้ จะเพิ่มกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ การต้อนรับคณะทูตหรือสื่อมวลชนจากประเทศโลกมุสลิม หรือการสนับสนุนการเยี่ยมเยียนของคณะผู้นำศาสนาอย่างต่อเนื่อง"

ถาม : ฟังแล้วสบายใจอยู่บ้าง แล้วเรื่องปากท้อง ความเป็นอยู่และความกังวลใจของพี่น้องประชาชน ในยุคใหม่ของศอ.บต.ดูแลอย่างไร

ภาณุ : "วันนี้ เรามีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้าน (พนม.) ซึ่งขณะนี้ขยายครอบคลุมพื้นที่ 2,869 หมู่บ้านใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเงินโอนเงินงบประมาณเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารหมู่บ้าน แห่งละ 228,000 บาท ครบทุกหมู่บ้าน โครงการที่จะดำเนินการต้องผ่านความเห็นชอบจากประชาคม มีการแบ่งไว้เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านด้วย ส่วนครัวเรือนซึ่งมีผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือมีสมาชิกมาก มีเด็กกำพร้า หรือครอบครัวแตกแยก ก็ได้จัดทางเลือกอาชีพที่ตรงกับศักยภาพ วิถีชีวิต เพื่อให้มีโอกาสในการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

"ในส่วนของผู้ประกอบการในพื้นที่นั้น ได้มีการจัด Road Show ออกเดินสายแนะนำและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของดีชายแดนใต้ ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และในอนาคตอันใกล้ ตนเตรียมจะขยายผลการจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ตามโครงการ จากร้อยร้านค้า สู่ร้อยล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะตลาดต่างประเทศยังมีพื้นที่เพียงพอสำหรับสินค้าบ้านเรา ซึ่งโครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ดำเนินการบนพื้นฐานของการแนะนำและตรวจสอบการใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง รวมทั้งการจัดทำแบบวิจัยภาคสนาม โดยสถาบันการศึกษาในพื้นที่ด้วย"

ถาม : แล้วเรื่องการคุ้มครองสิทธิ หรือการอำนวยความเป็นธรรมล่ะ?

ภาณุ : "ตอนนี้ เรามีศูนย์อำนวยความเป็นธรรมภาคประชาชนในระดับตำบล หรือเรียกว่า Keadilan center มีบุคลากรของชุมชนที่มีความรู้ด้านกฎหมาย ช่วยแนะนำ ปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย ขจัดเงื่อนไขทางสังคม เจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาท ตามหลักกฎหมายและหลักศาสนา ปัจจุบันมีทั้งหมด 117 ศูนย์ ตั้งอยู่ในปัตตานี 60 ศูนย์ นราธิวาส26 ศูนย์ ยะลา 16 ศูนย์ สงขลา 8 ศูนย์ และสตูล 7 ศูนย์"

ถาม : แล้วเรื่องของการให้บริการประชาชน ที่ศอ.บต.บอกว่า “ข้าราชการชายแดนใต้วันนี้ดีเกินคาด” ตั้งเป้าไว้อย่างไร

ภาณุ : "ขณะนี้ เรามี นักประชาสัมพันธ์และบริการประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่ล่าม และอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร ประจำอยู่ที่อำเภอ สำนักงานที่ดิน โรงพยาบาล และโรงพักในพื้นที่ เพื่อจะได้อุ่นใจว่าคุยกันรู้เรื่อง และมั่นใจว่าพี่น้องประชาชนจะได้รับบริการที่ดี นอกจากนี้ เราได้นำระบบประเมินผลไปติดตั้งไว้ให้ประชาชนกดปุ่มแสดงความพึงพอใจในบริการ ซึ่งนอกจากจะทราบระดับความพอใจของพี่น้องประชาชนแล้ว ยังเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน เพราะจะมีการนำเสนอและคัดเลือกข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐดีเด่นในแต่ละเดือนด้วย

"สำหรับอีก 5 เดือนต่อจากนี้ จะเน้นให้นักประชาสัมพันธ์บริการประชาชนได้ทำงานในเชิงรุกนอกสำนักงาน และให้สร้างเครือข่ายเพื่อให้บริการครอบคลุมพื้นที่ และเสริมความศรัทธาแก่ประชาชน"

ด้วยท่าทีผ่อนคลาย เหมือนได้มีโอกาสคุยในเรื่องที่ถูกใจ ภาณุเล่าให้ฟังว่า "มีโครงการและกิจกรรมอีกมากมายที่ เราได้เริ่มขึ้น เพื่อสร้างบรรยากาศและความอบอุ่นใจให้กับพี่น้องประชาชน อย่างเช่น การจัดดิเกฮูลู "คณะ ผอ.ยุนุห์ตุหยง" ออกไปแสดง พร้อมกับประชาสัมพันธ์งานของ ศอ.บต. มีโฆษกกีตอ (โฆษกของเรา) ทำหน้าที่เป็นพิธีกรเล่าเรื่องความสามัคคี ความรักบ้านเมือง พิษภัยของยาเสพติด การเผยแพร่ข่าวสารและการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การส่ง SMS การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ /วิทยุกระจายเสียงคลื่นความถี่หลัก 90.00 MHz และ103.75 MHz ของศอ.บต.เพื่อเป็นสื่อกลาง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่และชี้แจงข้อเท็จจริงรวมทั้งรับฟังความคิดเห็น สร้างความบันเทิงให้กับประชาชน ในอนาคตอันใกล้จะเพิ่มขยายประเภทของสื่อ และรายการมากขึ้น เช่น การนำเสนอ สกู๊ปข่าวพัฒนาพื้นที่บริการประชาชน ฯลฯ"

"สำหรับช่องทางอื่น ๆ ที่จะสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชน ได้แก่ สายด่วน (Hotline) สันติสุขถาวร 1880 ตอลด 24 ชั่วโมง เพื่อร้องเรียน ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแส หรือเสนอแนะเพื่อการพัฒนา ทั้งนี้ เรายืนยันว่าทุกสายของพี่น้องประชาชนจะได้รับความสนใจ แก้ไข และแจ้งผลการปฏิบัติให้ทราบภายในเวลาที่รวดเร็ว หรือส่งจดหมายถึง ศอ.บต. ไม่ต้องติดแสตมป์ รวมทั้งโทรโดยตรงที่เบอร์ 08 0088 8303 ตลอดเวลาเหมือนกัน"

ถาม : เรียกว่า ศอ.บต.ยุคใหม่ ที่พยายามดำเนินการเชิงรุกและขจัดทุกเงื่อนไขที่อาจจะสร้างปัญหาในพื้นที่
ภาณุ : "ใช่ เราพยายามมากและตั้งใจที่จะให้เป็นแบบนั้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ของศอ.บต.ทุกคนในวันนี้ ก็มีการสร้างจิตสำนึกใหม่ร่วมกัน ด้วยการทำหน้าที่แบบ “ให้มากกว่าที่ขอ ไม่รีรอที่จะช่วยเหลือ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ หากเป็นกรณีที่สามารถช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ตามมติครม. แต่ถ้าไม่เข้าหลักเกณฑ์ เราก็จะให้ความสนใจและติดตามเพื่อนำไปสู่การดูแล แก้ไขและช่วยเหลือที่เหมาะสม รวมทั้งการจัดหน่วยตรวจเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และการดำเนินการดูแลในลักษณะดังกล่าว จะขยายไปยังกลุ่มผู้ต้องขังอื่นด้วย"

ถาม : แล้วได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่แค่ไหน

ภาณุ : "ทุกวันนี้ เรามีเครือข่ายของเราหลายรูปแบบ ได้แก่ ศูนย์เฝ้าระวังเหตุร้ายภาคประชาชน” โดยกลุ่มวิทยุสมัครเล่น (เครื่องดำ) และกลุ่มอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยชุมชน สมาชิกตาสับปะรด (เครื่องแดง) / เครือข่ายบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ หรือ ผอ.ศอ.บต. ประจำหมู่บ้าน จำนวน 2,869 คน ทำหน้าที่ประสาน ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ตามที่ ศอ.บต.มอบหมาย / เครือข่ายเยาวชนใน จชต. / เครือข่าย “ชมรมคนรักกีฬา” / เครือข่ายเยาวชนจากโครงการสานใจไทยสู่ใจใต้ / เครือข่ายนักเรียนทุน ศอ.บต. / เครือข่ายคนรักคลื่นสันติสุข ซึ่งเป็นแฟนรายการวิทยุของศอ.บต. / เครือข่ายโต๊ะครูและผู้ช่วยโต๊ะครูรุ่นใหม่ในสถาบันปอเนาะ / เครือข่ายเยาวชนไทย รู้รักสามัคคี ห่างไกลยาเสพติด เป็นต้น"

"บุคคลที่รวมกันเป็นเครือข่ายเหล่านี้ ล้วนเต็มอกเต็มใจในการช่วยเหลืองานของ ศอ.บต."

"สำหรับการดำเนินการลำดับต่อไป จะศึกษาและดำเนินการแต่งตั้งผู้นำเยาวชน (โดยความเห็นชอบของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) ให้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายเยาวชน"

ถาม : ฟังแล้วดูมีความหวัง เราสามารถพูดได้ว่า ศอ.บต.ได้รับความร่วมและการตอบรับจากพื้นที่มากขึ้น อย่างเต็มปากได้หรือยัง
ภาณุ : "ผมเชื่อว่า แนวโน้มเป็นอย่างนั้นนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พอมีแผนพัฒนา โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ อชต. ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธาน ได้มีการเร่งรัด ติดตามการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ให้เป็นไปตามแผนฯ อย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับครัวเรือน ให้มีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 120,000 บาท/ปี หรือ 10,000 บาท/เดือน ในปี 2555 ซึ่งเราเองได้เน้นระบบการติดตามผลและพี่เลี้ยงแก่ครอบครัวเป้าหมาย การตรวจสอบการติดตามผลในระดับต่างๆ และเน้นการจัดทำบัญชีครัวเรือน / เพิ่มการประชาสัมพันธ์และจัดตั้งกลุ่มประชาชนเศรษฐกิจพอเพียงประจำหมู่บ้าน หรือกลุ่มประชาชนคนขยันประจำหมู่บ้าน"

"นอกจากนี้ เรายังมีโครงการส่งเสริมความสามัคคีในพื้นที่ด้วยหนังสือนิทานภาพ “เราต่างก็เป็นเพื่อนกัน” เน้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้วิถีชีวิต ทำให้มีการยอมรับระหว่างกันมากขึ้น / การจัดการแข่งขันกีฬาสามัคคี เช่น วิ่ง 30 คน 31 ขา / การแข่งขันกีฬาฟุตบอลยุวชนรักไทย / การแข่งขันเปตองผู้สูงอายุ 3 คน 200 ปี และการจัดตั้งและขยายผลอาสาสมัครปกป้องสถาบันซึ่งมีอยู่ทุกหมู่บ้านแล้วขณะนี้"

ถาม : แล้วเรื่องการศึกษาของเยาวชนเป็นอย่างไรบ้าง

ภาณุ : "เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่อง ที่ศอ.บต. ให้ความสำคัญและเห็นว่าจะเป็นหนทางให้พี่น้องประชาชนมีภูมิต้านทานทางความคิดที่แข็งแรง ในเบื้องต้นเราใช้วิธีจัดห้องปฏิบัติการวิชาการในโรงเรียนขนาดใหญ่เพื่อเป็นศูนย์การเรียนการสอนแก่โรงเรียนขนาดเล็กในเครือ / สนับสนุนหลักสูตรอิสลามศึกษา โดยใช้รูปแบบของ“จะแนะโมเดล” / ขยายผลโรงเรียนปอเนาะในโครงการพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 14 แห่ง ในด้านอาหารกลางวัน การปรับภูมิทัศน์ และกำลังอยู่ระหว่างเตรียมการขยายผลและสนับสนุนทุนการศึกษามิติใหม่ (จัดเจ้าภาพสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นรายวัน) / การจัดตั้งศูนย์การสอนเสริมในระดับเขตพื้นที่การศึกษา “โรงเรียนครูเยี่ยมนักเรียนยอด” / จัดการสอบแข่งขันเฉพาะวิชา / ชั้น / เดือน จัดโครงการประกวดแข่งขันโรงเรียนการจัดการศึกษาดีเด่น ระดับจังหวัด / เขต / อำเภอ / รวมถึงบุคลากรดีเด่นด้วย"

"อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เราจะจัดกรณีศึกษา เกี่ยวกับเรื่องของหลักการศึกษากับหลักศรัทธา หรือความเชื่อในศาสนาที่มีความสอดคล้องกัน มาเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การสอนเรื่องความกตัญญู ซึ่งมีอยู่ในสาระสำคัญของหลักธรรมในพุทธศาสนาและในหลักบัญญัติของศาสนาอิสลามด้วย"

หลังการพูดคุยจบลง แม้จะยังไม่อาจคาดเดาได้ว่า ความรุนแรงและสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ใจได้เมื่อ 6 เดือนหลังการรับตำแหน่งผอ.ศอ.บต.ผ่านไปก็คือ ข้าราชการจังหวัดชายแดนใต้วันนี้ เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น โครงการต่าง ๆ ได้ถูกส่งจากส่วนกลาง เป็นไปตามความต้องการและหยุดลงตรงหน้าของกลุ่มเป้าหมาย ด้วยความเอื้อเฟื้อ แบ่งปันและเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังอีก 5 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งก็พอจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้เราได้มีความหวัง.