วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

(บทที่ 26 – 45) ...คนดีจึงเป็นครูของคนชั่ว ... คนชั่วจึงเป็นอุทธาหรณ์ของคนดี

ในท่ามกลางความไม่มั่นคง ความหนักแน่นก็สูญสลายไป

ในท่ามกลางความรีบเร่ง ความสงบก็สูญสลายไป...
ดังนั้นคนดีจึงเป็นครูของคนชั่ว ... คนชั่วจึงเป็นอุทธาหรณ์ของคนดี
ความง่ายนั้นเหมือนกับไม้ที่ยังมิได้แกะสลัก ...ไม่เข้าไปครอบครอง จึงมิได้สูญเสีย

ผู้ที่รู้จักเพียงพอ จะไม่พบกับความอัปยศ ...
ผู้ที่รู้จักหยุดในเวลาที่เหมาะสม...จะไม่ตกอยู่ในภยันตราย
เขาจึงมีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน

... ... ... ...

(บทที่ 26 – 45)

บทที่ 26 ความหนักแน่นและความสงบ
ความหนักแน่นเป็นรากฐานแห่งความไม่มั่นคง ความสงบเป็นนายของความรีบเร่งลนลาน
ดังนั้นปราชญ์จึงเดินทางไปตลอดวัน โดยไม่เคยละทิ้งรถเสบียง
อันบรรจุความหนักแน่นและความสงบอยู่จนเปี่ยมล้น
ในท่ามกลางเกียรติศักดิ์และความรุ่งโรจน์ ท่านก็สามารถอยู่อย่างสงบโดยไม่ถูกรบกวน
ทำอย่างไรจึงจะทำให้จักรพรรดิผู้ปกครองประเทศ หันมาใช้ชีวิตตามแนวทางแห่งปราชญ์นี้
ในท่ามกลางความไม่มั่นคง ความหนักแน่นก็สูญสลายไป ในท่ามกลางความรีบเร่ง ความสงบก็สูญสลายไป


บทที่ 27 ช่วยสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน

นักเดินทางที่ดีไม่ทิ้งร่องรอย
นักพูดที่ดีไม่มีข้อผิดพลาด
นักคำนวณที่ดีไม่ต้องใช้ไม้ติ้ว
บานประตูที่ดีไม่ต้องใช้สลักใช้กลอน
แม้กระนั้นก็ไม่สามารถเปิดออก
เงื่อนปมที่ดีไม่ต้องใช้เชือกมาผูก
แม้กระนั้นก็ไม่สามารถแก้ออก
ดังนั้น ปราชญ์จึงมีความดีในการช่วยเหลือผู้คน
ไม่มีใครเลยที่ถูกท่านปฏิเสธ
ท่านมีความดีในการบำรุงเลี้ยงสรรพสิ่ง
ไม่มีสรรพสิ่งใดเลยที่ถูกท่านปฏิเสธ
นี่จึงเรียกว่าท่านเป็นผู้รู้แจ้ง
ดังนั้น คนดีจึงเป็นครูของคนชั่ว
คนชั่วจึงเป็นอุทธาหรณ์ของคนดี
คนใดไม่เคารพนอบน้อมต่อผู้ที่เป็นครู
หรือคนใดไม่มีความรักต่อผู้ที่เป็นอุทธาหรณ์
ถึงแม้จะมีความรอบรู้สักเพียงใด
ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้หลงทางผิด นี่คือความจริงอันล้ำลึกยิ่ง


บทที่ 28 แสดงออกด้วยความง่าย

ผู้มีความเข้มแข็ง แต่แสดงออกด้วยความอ่อนโยน
ก็จะกลายเป็นลำธารของโลก การเป็นลำธารของโลก
ก็จะได้รับทิพยอำนาจอันไม่มีสิ้นสุด และกลับไปสู่สภาวะทารกอันไร้เดียงสา
ผู้มีความรู้กระจ่างดั่งสีขาว แต่แสดงออกด้วยความคลุมเครือดั่งสีดำ
ก็จะกลายเป็นแบบอย่างของโลก การเป็นแบบอย่างของโลก
ก็จะได้รับทิพยอำนาจอันไม่มีสิ้นสุด และกลับไปสู่สภาวะอันสูงเยี่ยม
ผู้มีเกียรติและความรุ่งเรือง แต่แสดงออกด้วยความถ่อมตน
ก็จะกลายเป็นหุบเขาของโลก การเป็นหุบเขาของโลก
ก็จะได้รับทิพยอำนาจอันไม่มีสิ้นสุด และกลับไปสู่ความเป็นอยู่อย่างง่ายๆ ดังอดีต
ความง่ายนั้นเหมือนกับไม้ที่ยังมิได้แกะสลัก เมื่อนำมาสลักเสลาก็จะกลายเป็นภาชนะอันมีประโยชน์
เมื่อปราชญ์รับอาสาเข้าปฏิบัติภารกิจ ท่านจะเป็นเอกในหมู่เสนาบดี มหาเสนาบดีผู้ยิ่งใหญ่ จะไม่มีวันถูกโค่นล้ม


บทที่ 29 ใครจะเป็นผู้เปลี่ยนแปลงโลก

มีบางคนที่จะคิดยึดครองโลก และจัดการเปลี่ยนแปลงไปตามที่ตนปรารถนา
ข้าพเจ้าทราบดีว่าเขาคงทำไม่สำเร็จเป็นแน่
ด้วยโลกนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ มนุษย์ไม่อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวบิดเบือน
ผู้ที่พยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยวเท่ากับทำลายมัน
ผู้ที่พยายามเข้าครอบครองจะต้องสูญเสีย ดังนั้นปราชญ์ย่อมไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว
ท่านจึงมิได้ทำลายมัน ไม่เข้าไปครอบครอง จึงมิได้สูญเสีย
มีบ้างบางคนชอบไปข้างหน้า บางคนติดตามมาข้างหลัง
บ้างชอบร้อน บ้างชอบหนาว บ้างแข็งแรง บ้างอ่อนแอ บ้างเฟื่องฟู บ้างตกต่ำ
ดังนั้นปราชญ์ย่อมละทิ้งความเกินเลย ละทิ้งความฟุ่มเฟือย ละทิ้งความผยองลำพอง


บทที่ 30 สงคราม

ผู้ที่รู้เต๋าและประสงค์จะเข้ามาช่วยเหลือกิจการบ้านเมือง
จะต้องคัดค้านการพิชิตด้วยกำลังทหาร
เพราะสิ่งนี้จะได้รับการตอบแทน
ยกทัพไปรุกรานผู้อื่น ก็จะถูกผู้อื่นยกทัพมากระทำตอบ
เมื่อกองทัพยกไปถึงที่ใด ดินแดนนั้นก็จะเต็มไปด้วยหญ้าและพงหนาม
เมื่อยกทัพใหญ่ไป สิ่งที่จะตามมาก็คือช่วงเวลาแห่งความขาดแคลน
ความยากแค้น และความอดอยาก

ดังนั้นเมื่อขุนพลทำการรบสำเร็จผลก็หยุดยั้ง
มิกล้าที่จะพึ่งพาความเข้มแข็งของกำลังทัพ
สำเร็จผลแล้ว...ไม่ถือว่ารุ่งโรจน์
สำเร็จผลแล้ว...ไม่โอ้อวด
สำเร็จผลแล้ว...ไม่ลำพอง ...
ความสำเร็จผลนั้นถือว่าเป็นความจำเป็นอันน่าโศกเศร้า
ความสำเร็จผลนั้นเกิดขึ้นมิใช่ด้วยนิยมในความรุนแรง
เมื่อมีเวลารุ่งโรจน์ก็มีเวลาตกต่ำ
ด้วยความรุนแรงนี้ขัดกับเต๋า ผู้ที่ขัดกับเต๋าจะจบสิ้นไปโดยเร็ว



บทที่ 31 ชัยชนะอันน่าโศกเศร้า

ศัตราวุธนั้นแม้จะมีลวดลายสวยงาม แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่สุด
ผู้คนต่างเกลียดชังมัน ดังนั้น ผู้มีศาสนธรรมย่อมหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธ
บุคคลผู้เจริญนิยมด้านซ้ายว่าเป็นด้านแห่งสวัสดิมงคลแต่ในพิธีการ
ทางการทหารนิยมทางด้านขวา อาวุธนั้นเป็นสิ่งชั่วร้าย หาใช่เป็น
สิ่งที่บุคคลผู้เจริญสมควรใช้ไม่ เมื่อมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ทางออกที่ดีที่สุดคือตั้งตนอยู่ในความสงบแม้ชัยชนะในการรบก็มิอาจนับว่าเป็นสิ่งดีงาม
และผู้ที่คิดว่ามันเป็นสิ่งดีงาม
คือผู้ที่ชื่นชอบในการฆ่าฟัน ผู้ที่ชื่นชอบในการฆ่าฟัน
จะไม่ได้รับความสมปรารถนาใดๆ เลยภายใต้แผ่นฟ้าถือกันว่าสวัสดิมงคลนั้นอยู่ข้างซ้าย
ถือกันว่าอัปมงคลนั้นอยู่ข้างขวา รองแม่ทัพจึงยืนอยู่ด้านซ้าย
แม่ทัพจึงยืนอยู่ด้านขวา นี่อาจกล่าวได้ว่าการรบเป็นพิธีของงานศพ
การล้างผลาญคนเป็นจำนวนมากมาย ย่อมนำมาซึ่งการคร่ำครวญและโศกสลด
แม้ชัยชนะนั้นก็ต้องเฉลิมฉลองด้วยพิธีศพ


บทที่ 32 มหาสมุทรแห่งสรรพสิ่งเต๋าอันสูงสุดนั้นไร้ชื่อ ท่อนไม้อันยังมิได้สลักเสลา
ก็จะไม่มีใครนำเอาไปใช้เป็นภาชนะได้
หากกษัตริย์และขุนนาง สามารถรักษาความเป็นธรรมชาติอย่างง่าย ๆ นี้ไว้ได้
โลกทั้งโลกก็จะมานอบน้อมต่อท่าน
เมื่อฟ้าและดินเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน สายฝนอันชื่นฉ่ำก็ตกลงมา
อยู่เหนือการบังคับบัญชาของทุกสิ่ง
เมื่ออารยธรรมของมนุษย์เกิดขึ้น ชื่อสำหรับใช้เรียกสิ่งต่างๆ ก็เกิดขึ้นด้วยและมีมาตั้งแต่นั้น
พึงรู้ว่าเมื่อใดถึงเวลาควรหยุด
หยุดอะไรเล่า หยุดความวุ่นวายความสับสน
หยุดความยุ่งยากซับซ้อน หยุดความเปรื่องปราชญ์
หยุดความเจริญในทางโลก ผู้ที่รู้ว่าเมื่อใดควรหยุด
ก็จะรอดพ้นจากภัยทั้งสิ้น เต๋านั้นอาจเปรียบได้กับแม่น้ำทั้งหลาย
อันไหลไปรวมกัน ณ ท้องมหาสมุทร


บทที่ 33 รู้จักตนเอง

ผู้ที่เข้าใจผู้อื่นคือผู้รอบรู้
ผู้ที่เข้าใจตนเองคือผู้รู้แจ้ง
ผู้ที่มีชัยต่อคนอื่นคือผู้มีกำลัง
ผู้ที่มีชัยต่อตนเองคือผู้เข้มแข็ง
ผู้ที่มักน้อยคือผู้ร่ำรวย
ผู้ที่มานะพยายามคือผู้มีความหวัง
ผู้ที่อยู่ในสถานะอันเหมาะสมของตน
ย่อมอยู่ได้ยาวนาน ถึงแม้ผู้นั้นจะสิ้นชีวิตไปแล้ว
แต่คุณความดียังคงอยู่สืบไป


บทที่ 34 เต๋าอันยิ่งใหญ่

เต๋าอันยิ่งใหญ่นั้นไหลบ่าท่วมท้นไปทุกแห่งหน
เหมือนกับสายน้ำอาจไหลไปทางซ้ายหรือทางขวา
สรรพสิ่งอุบัติขึ้นจากเต๋า จึงไม่มีสิ่งใดอาจฝ่าฝืนเต๋าได้
เมื่องานของเต๋าสำเร็จลุล่วงลง ก็มิได้เข้าครอบครอง
เต๋าถนอมและบำรุงเลี้ยงสรรพสิ่ง แต่มิได้ตั้งตนเป็นเจ้าของ
การดูแลของเต๋าปราศจากกิเลสตัณหา ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเต๋าเป็นสิ่งเล็ก
และจากการเป็นที่อยู่อาศัยของสรรพสิ่ง ก็อาจกล่าวได้อีกว่าเต๋าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่
ด้วยเหตุที่เต๋าไม่เคยประกาศความยิ่งใหญ่
ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบั้นปลาย
...ความยิ่งใหญ่ของเต๋าจึงปรากฏขึ้นและคงอยู่


บทที่ 35 ลักษณะเด่นคือความสามัญ

ยึดมั่นในหนทางอันยิ่งใหญ่ (เต๋า)และโลกทั้งโลกก็จะดำเนินรอยตาม
ตามรอยนี้ก็จะนิราศจากภัย มีชีวิตอยู่ด้วยความรุ่งเรือง สันติสุข และมั่นคง
ดนตรีเสนาะอาหารโอชะ มักทำให้ผู้เดินทางต้องหยุดยั้ง แต่เต๋านั้นจืดชืดจนไร้รสชาติ
มองหาก็ไม่อาจเห็น ฟังดูก็ไม่ได้ยิน แต่เมื่อนำมาใช้ คุณประโยชน์นั้นจะไม่มีวันหมดสิ้น

บทที่ 36 ชนะแข็งด้วยอ่อน

ผู้ที่ถูกลดทอน จะต้องมีมากมาก่อน
ผู้ที่อ่อนแอ จะต้องเข้มแข็งมาก่อน
ผู้ที่ตกต่ำ จะต้องยิ่งใหญ่มาก่อน
ผู้ที่ได้รับ จะต้องให้มาก่อน
เหล่านี้คือนัยที่แสดงออกให้ปรากฏ
ความอ่อนละมุนมีชัยเหนือความแข็งกร้าว
ควรปล่อยให้มัจฉาอยู่ในสระลึกจะดีกว่า
เหมือนดั่งเก็บงำศัตราวุธทั้งมวล ของบ้านเมืองไว้มิให้ใครแลเห็น


บทที่ 37 ปกครองด้วยความเรียบง่าย
เต๋าไม่เคยกระทำ แม้กระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จลุล่วงลง
หากกษัตริย์และเจ้านครสามารถรักษาเต๋าไว้ได้
โลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปโดยความต่อเนื่อง
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปและเกิดการกระทำต่างๆขึ้น
จงปล่อยให้ความเรียบง่ายแต่บรรพกาลเป็นผู้ควบคุมการกระทำ
ความเรียบง่ายแต่บรรพกาลนี้ไร้ชื่อ มันช่วยขจัดความอยากทั้งปวง
เมื่อขจัดความอยากได้ ความสงบย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นโลกย่อมถึงซึ่งสันติสุข


บทที่ 38 เมื่อเต๋าสูญหายไป

บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมสูงส่ง มิได้รู้ว่าตนเองมีคุณธรรม
ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้มีคุณธรรม บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมเพียงเล็กน้อย
พยายามดิ้นรนรักษาคุณธรรมของตนไว้ กลับต้องสูญเสียมันไป
ผู้สูงส่งด้วยคุณธรรมดูคล้ายกลับเฉื่อยชา แม้กระนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็สำเร็จเรียบร้อยลง
ผู้ต่ำต้อยด้วยคุณธรรม ทำแล้วทำเล่า แต่ทุกสิ่งทุกอย่างกลับไม่สำเร็จผล
ผู้มีเมตตายิ่งนั้น กระทำโดยปราศจากการกระตุ้นเตือน
ผู้มีความยุติธรรมยิ่งนั้นกระทำโดยการกระตุ้นเตือน
ผู้ยึดถือประเพณีอันเคร่งครัดกระทำโดยการกระตุ้นเตือน
ผู้ยึดถือประเพณีอันเคร่งครัดกระทำลงไป เมื่อมิได้รับการตอบสนองต่อผู้ใด
ก็หันมาใช้วิธีการบังคับ เนิ่นนานต่อมาผู้คนจึงค่อยๆ เชื่อถือตามอย่างประเพณี
ดังนั้นเมื่อเต๋าสาบสูญไป คุณธรรมก็เข้ามาแทนที่
เมื่อคุณธรรมสูญหายไป ความเมตตาก็เข้ามาแทนที่
เมื่อความเมตตาสูญหายไป ความยุติธรรมก็เข้ามาแทนที่
เมื่อความยุติธรรมสูญหายไปประเพณีก็เข้ามาแทนที่
ประเพณีนั้นคือความภักดีและความสัตย์ซื่อ ที่มีอยู่เพียงน้อยนิดในดวงใจ
และเป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวาย ความหยั่งรู้อย่างกระท่อนกระแท่น
เป็นเพียงภาพลวงของเต๋า และเป็นจุดเริ่มต้นของความงมงาย
ดังนั้น มหาบุรุษย่อมธำรงความหนักแน่นไว้ มิกล้าเลินเล่อประมาท
อยู่ในความจริง ละทิ้งสิ่งมายา ท่านปฏิเสธสิ่งหลังและยอมรับในสิ่งแรก


บทที่ 39 ขอเป็นระฆังหิน

ในอดีตกาลสิ่งเหล่านี้ได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว
จากความเป็นหนึ่งเดียวฟ้าก็กระจ่างแจ้ง
จากความเป็นหนึ่งเดียวพื้นดินก็มั่นคง
จากความเป็นหนึ่งเดียวดวงจิตก็ศักดิ์สิทธิ์
จากความเป็นหนึ่งเดียว แหล่งน้ำก็เปี่ยมล้น
จากความเป็นหนึ่งเดียว สรรพสิ่งก็ดำเนินไปและเติบโต
จากความเป็นหนึ่งเดียวกษัตริย์จึงได้ปกครองไพร่ฟ้า
นี่คือสาเหตุของความเป็นไป
หากฟ้าไม่กระจ่างแจ้ง ก็จะพังทลาย
หากพื้นดินไม่มั่นคง ก็จะแตกร้าว
หากดวงจิตไร้ความศักดิ์สิทธิ์ก็จะดับสูญ
หากแหล่งน้ำไม่เปี่ยมล้นก็จะเหือดแห้ง
หากสรรพสัตว์ไร้พลังแห่งชีวิตก็จะแตกดับ
หากกษัตริย์ไร้อำนาจก็จะถูกโค่นล้ม
...

ดังนั้นการเป็นผู้สูงส่งต้องพึ่งพาคนสามัญช่วยสนับสนุน
ความรุ่งโรจน์ต้องอาศัยความต่ำต้อยเป็นพื้นฐาน
นี่คือเหตุผลที่อธิบายว่า
ทำไม..กษัตริย์และผู้ปกครองจึงเรียกตัวเองว่า ผู้กำพร้า ผู้โดดเดี่ยว ผู้ไร้คุณค่า
นี่มิได้หมายความว่า ท่านถือเอาความต่ำต้อยเป็นรากฐานหรอกหรือ
สิ่งที่ผู้คนรังเกียจมิใช่ ความกำพร้า ความโดดเดี่ยว และความไร้คุณค่าหรอกหรือ
แม้กระนั้นกษัตริย์และผู้ปกครองก็ยังนำมันมาตั้งเป็นฉายาแห่งตน
เกียรติสูงคือความไร้เกียรติ
เพิ่มพูนด้วยการลดทอน
ลดทอนแต่กลับได้เพิ่มพูน
มิอาจทำตัวให้มีเสียงก้องกังวานเหมือนระฆังหยก
ในขณะที่ผู้อื่นมีเสียงเหมือนระฆังหิน


บทที่ 40 วัฏฏะ

การย้อนกลับคือการกระทำของเต๋า ความนุ่มนวลคือส่วนประกอบของเต๋า
สรรพสิ่งในโลกกำเนิดมาจากความมี และความมีกำเนิดมาจากความว่าง


บทที่ 41 ระดับสูง

เมื่อคนในระดับสูงได้รับฟังเต๋า ก็ปฏิบัติตามอย่างมานะ
เมื่อคนในระดับปานกลางได้รับฟังเต๋า บางครั้งก็เข้าใจบางครั้งก็ไม่เข้าใจ
เมื่อคนในระดับต่ำสุดได้รับฟังเต๋า ก็หัวเราะเยาะด้วยเสียงอันดัง
หากมิถูกหัวเราะเยาะก็คงจะมิใช่เต๋าแล้ว
ดังนั้นจึงมีคำกล่าวไว้ว่า เต๋าอันกระจ่างแจ้งคล้ายดั่งมืดมน
เต๋าอันรุดหน้าคล้ายดั่งถดถอย เต๋าอันราบรื่นคล้ายดั่งขรุขระ
สีขาวบริสุทธิ์คล้ายดั่งมืดดำ คุณความดีอันสูงสุดคล้ายดั่งต่ำต้อย
คุณความดีอันเลอเลิศคล้ายบกพร่อง คุณความดีอันหนักแน่นคล้ายเลื่อนลอย
ธรรมชาติอันง่ายๆคล้ายแปรเปลี่ยน รูปจัตุรัสที่ใหญ่สุดนั้นไม่มีมุม
ภาชนะที่ใหญ่สุดนั้นไม่เคยสร้างสำเร็จ เสียงดนตรีอันยิ่งใหญ่นั้นยากที่จะได้ยิน
ภาพอันยิ่งใหญ่นั้นไม่อาจมองเห็น เต๋าอันเคลือบคลุมซ่อนเร้นนั้นไร้ชื่อ
มีเพียงเต๋าเท่านั้นที่เสริมสร้างบำรุงเลี้ยง และให้ความสมบูรณ์แก่สรรพสิ่ง


บทที่ 42 คำสอนประจำใจ

เต๋าให้กำเนิดแก่หนึ่ง จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม จากสามเป็นสรรพสิ่งในจักรวาล
จักรวาลที่ถูกสร้างสรรค์ ประกอบด้วย " หยัง " อยู่ด้านหน้า " หยิน " อยู่ด้านหลัง
สิ่งหนึ่งขาวสิ่งหนึ่งดำ สิ่งหนึ่งบวกสิ่งหนึ่งลบ ทั้งสองสิ่งผสมผสานกัน จนกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว
การเป็นผู้กำพร้า ผู้โดดเดี่ยว ผู้ไร้คุณค่า เป็นสิ่งที่ผู้คนหลีกเลี่ยงมากที่สุด
แม้กระนั้นบรรดากษัตริย์และ เจ้าครองนครกลับเรียกตนเองด้วยชื่อเหล่านั้น
ในบางครั้งมีบางสิ่งบางอย่างที่ได้รับคุณประโยชน์ เมื่อตัดทอนออกไปและได้รับทุกข์ภัยเมื่อเพิ่มพูนเข้ามา
บุคคลผู้ชมชอบในความรุนแรง จะสิ้นชีวิตลงด้วยความรุนแรง
มีบางคนได้สอนความจริงข้อนี้ไว้
ข้าพเจ้าก็ขอสอนเช่นนี้ด้วยและจะถือเอาเป็นคำสอนประจำใจ


บทที่ 43 การไม่กระทำ

สิ่งที่อ่อนที่สุดในโลกนี้ สามารถเจาะผ่านสิ่งที่แข็งที่สุด นั่นคือสิ่งที่ไร้รูป ย่อมผ่านทะลุสิ่งที่ไร้ช่องว่าง นี่เองข้าพเจ้าจึงทราบถึงคุณประโยชน์ของการไม่กระทำ และการสอนโดยไม่ใช้คำพูดคุณประโยชน์ของการไม่กระทำนั้น ย่อมไม่อาจหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้ในจักรวาล

บทที่ 44 รู้จักพอ

ชื่อเสียงกับตัวเอง อย่างไหนน่าหวงแหนมากกว่ากัน ตัวเองกับทรัพย์สมบัติ อย่างไหนมีค่ามากกว่ากัน รักษาชีวิตไว้ได้แต่สูญเสียทุกสิ่ง รักษาทุกสิ่งไว้ได้แต่สิ้นชีวิต อย่างไหนน่าเศร้าและเจ็บปวดมากกว่ากัน ความจริงมีอยู่ว่า ผู้พึงใจในชื่อเสียง ย่อมไม่ใยดีกับความยิ่งใหญ่ ผู้พึงใจจะมีมาก ย่อมละทิ้งความร่ำรวย ผู้ที่รู้จักเพียงพอ จะไม่พบกับความอัปยศ ผู้ที่รู้จักหยุดในเวลาที่เหมาะสม จะไม่ตกอยู่ในภยันตราย เขาจึงมีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน

บทที่ 45 คล้าย

สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุด คล้ายดังมีความบกพร่องอยู่ แต่คุณประโยชน์ของมันไม่มีที่สิ้นสุด
สิ่งที่เต็มเปี่ยมที่สุด คล้ายดังมีความว่างเปล่าอยู่ แต่คุณประโยชน์ของมันไม่มีที่สิ้นสุด
ที่ตรงที่สุดคล้ายดังคดงอ ที่ชาญฉลาดที่สุดคล้ายดังโง่เขลา ที่เปี่ยมด้วยโวหารคล้ายดังขัดข้องติดอ่าง เมื่อเคลื่อนไหวทำให้หายหนาว เมื่อหยุดนิ่งทำให้หายร้อน ผู้มีความนิ่งมีความสงบ จึงเป็นแบบอย่างอันเลอเลิศของจักรวาล




หมายเหตุ ปัจจุบัน คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” มีอิทธิพลต่อในทุกสังคมทั่วโลก ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง กฎหมาย ธุรกิจ และการครองเรือน มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 250 สำนวน สำหรับ วิถีแห่งเต๋า ฉบับนี้เป็นคำแปลของคุณ พจนา จันทรสันติ ที่แปลจากภาษาอังกฤษผนวกกับความรู้ของผู้แปล ทำให้ได้ใจความสวยคม เข้าใจง่ายและอ่านรู้เรื่องที่สุด หนังสือวิถีแห่งเต๋าตอนนี้หาซื้อยากแล้วค่ะ โชคดี หากเจอใน pantown.com โดยคุณ: เซโร่ [23 พ.ค. 51 8:33] ได้กรุณารวบรวมมาโพสต์ไว้เพื่อประโยชน์แพร่หลาย ขอขอบคุณอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้ค่ะ


credit : วิถีแห่งเต๋า แปลโดย พจนา จันทรสันติ / : pantown.com