วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

เพื่อที่จะอยู่หน้าสุดในหมู่คน ท่านต้องกลับไปอยู่ข้างหลัง …

แม่น้ำและทะเลเป็นใหญ่เหนือห้วงน้ำทั้งหลาย ด้วยมันวางตนอยู่ในที่ต่ำ สายน้ำใหญ่น้อยจึงไหลมาสู่ ดังนั้นในการขึ้นเป็นใหญ่ในหมู่คน ปราชญ์ย่อมพูดจาถ่อมตน เพื่อที่จะอยู่หน้าสุดในหมู่คน ท่านต้องกลับไปอยู่ข้างหลัง …




นักสู้ที่ดีไม่โกรธง่าย ผู้พิชิตที่ยิ่งใหญ่ไม่สู้ในเรื่องเล็กน้อย

ผู้ที่รู้ว่าตนเองไม่รู้นั้นคือผู้สูงสุด ผู้ที่คิดว่าตนเองรู้นั้นเต็มไปด้วยอวิชชา


หากราษฎรกลัวความตายจริง เมื่อจับผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยการประหาร
เหตุใดจึงมีผู้กระทำผิดต่อไปอีก
มักจะมีผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการ ทำหน้าที่ตัดสินลงโทษ
อยู่เหนือความเป็นความตายของผู้คน
ผู้ที่ดำรงตำแหน่งตุลาการ เปรียบได้กับสามัญชนผู้ถือขวานไปตัดต้นไม้แทนช่างไม้ผู้ยิ่งยง
ผู้ที่ถือขวานแทนช่างไม้ ยากนักที่จะหนีพ้น บาดแผลจากคมขวาน



….. ….. ….. …..



คำจริงนั้นฟังดูไม่ไพเราะ คำที่ไพเราะไม่มีความจริง



บทที่ 66 ที่ต่ำ

เต๋านั้นคล้ายกับแม่น้ำใหญ่และทะเลกว้าง แม่น้ำและทะเลเป็นใหญ่เหนือห้วงน้ำทั้งหลาย
ด้วยมันวางตนอยู่ในที่ต่ำ สายน้ำใหญ่น้อยจึงไหลมาสู่ ดังนั้นในการขึ้นเป็นใหญ่ในหมู่คน
ปราชญ์ย่อมพูดจาถ่อมตน เพื่อที่จะอยู่หน้าสุดในหมู่คน ท่านต้องกลับไปอยู่ข้างหลัง
นี่เป็นเหตุที่ว่าทำไมเมื่อปราชญ์อยู่เบื้องบน ประชาชนอยู่เบื้องล่างจึงไม่รู้สึกเป็นภาระหนัก
เมื่อปราชญ์อยู่หน้า ประชาชนก็มิทำร้าย ดังนั้นประชาชน
ทั้งมวลต่างยินดี ที่จะยกปราชญ์ไว้ในที่สูง เคารพยกย่อง ให้เกียรติ
และไม่มีวันถอดถอนท่าน ด้วยเหตุว่าท่านมิได้ไปแข่งขันชิงดีกับผู้ใด
จึงไม่มีใครมาแข่งขันชิงดีกับท่าน


บทที่ 67 แก้วสามประการ

คนทั่วโลกพากันกล่าวว่า " คำสอนเกี่ยวกับเต๋านั้นคล้ายกับสิ่งโง่ๆ มากนัก "
ด้วยเต๋ายิ่งใหญ่แท้เชียว จึงคล้ายกับสิ่งโง่ๆถ้าไม่คล้ายกับสิ่งโง่ๆเต๋าก็คงหมดความยิ่งใหญ่ไปนานแล้ว
ข้าพเจ้ามีทรัพย์อยู่สามประการ ซึ่งข้าพเจ้ายึดถือและสงวนรักษาไว้
ประการแรกคือ ความรัก
ประการที่สองคือ กระทำแต่พอควร
ประการที่สามคือ การไม่เป็นเอกในโลก
ด้วยความรักจึงไร้ความกลัว
ด้วยกระทำแต่พอควร จึงมีความกว้างขวาง
ด้วยการไม่เป็นเอกในโลก จึงอาจเป็นเอกในบรรดาผู้ปกครอง
หากใครละทิ้งความรัก ถือเอาแต่ความกล้า
ละทิ้งความพอควร ถือเอาแต่อำนาจ
ละทิ้งการอยู่หลัง ถือเอาแต่การอยู่หน้า
ชีวิตของเขาจะต้องดับสูญลง
ด้วยอาศัยความรักจึงมีชัยในการจู่โจม
และปลอดภัยในการป้องกัน
อาวุธของสวรรค์คือความรัก ผู้ใช้อาวุธแห่งสวรรค์จะไม่มีวันพินาศ



บทที่ 68 การไม่แข่งขัน

ทหารที่กล้าหาญไม่ดุร้าย นักสู้ที่ดีไม่โกรธง่าย
ผู้พิชิตที่ยิ่งใหญ่ไม่สู้ในเรื่องเล็กน้อย
ผู้รู้จักเลือกใช้คนได้ดีย่อมตั้งตนต่ำกว่าผู้อื่น
นี่คือคุณความดีของการไม่แข่งขันช่วงชิง
นี่คือความสามารถในการช่วงใช้คนนำไปสู่สถานะอันสูงส่งเคียงคู่กับฟ้าอันมีมาแต่เก่าก่อน


บทที่ 69 ยุทธธรรม

มีหลักความจริงแห่งยุทธศาสตร์อยู่ว่าข้าพเจ้ามิกล้าจะเป็นผู้เริ่มรุก
ยอมแต่จะเป็นผู้ตั้งรับ มิกล้าคืบหน้าแม้สักนิ้ว แต่ยอมถอยเป็นก้าว
นั่นคือการเดินทัพโดยไม่จัดรูปขบวน ไม่โบกแขนเสื้อสั่งให้รบ
ไม่จู่โจมไปเบื้องหน้า รบคล้ายดั่งไร้ศัตรู ไม่มีภัยใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการดูแคลนข้าศึก
การดูแคลนข้าศึกทำให้สูญเสียทรัพย์ทั้งสาม
ดังนั้นเมื่อกองทัพอันมีแสนยานุภาพ เท่าเทียมกันมาประจันหน้ากัน
กองทัพที่ได้ชัย คือกองทัพที่รู้จักโศกศัลย์


บทที่ 70 ใครอาจเข้าใจ
คำสั่งสอนของข้าพเจ้า ง่ายที่จะเข้าใจและง่ายที่จะปฏิบัติ
แต่ไม่มีใครเสามารถข้าใจ และสามารถปฏิบัติ
ถ้อยคำของข้าพเจ้าย่อมมีหลักเกณฑ์อยู่
ความประพฤติของข้าพเจ้าย่อมมีหลักการอยู่
ด้วยไม่มีใครรู้สิ่งเหล่านี้ จึงไม่มีใครเข้าใจข้าพเจ้า
มีคนเข้าใจข้าพเจ้าน้อยแสนน้อยและข้าพเจ้าก็อยู่เหนือคุณค่าที่อาจให้
ด้วยปราชญ์มักสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหยาบอยู่ภายนอกและประดับหยกเนื้อดีไว้ภายใน


บทที่ 71 ผู้รู้

ผู้ที่รู้ว่าตนเองไม่รู้นั้นคือผู้สูงสุด
ผู้ที่คิดว่าตนเองรู้นั้นเต็มไปด้วยอวิชชา
ผู้ที่รู้ว่าอวิชชาคืออวิชชาย่อมหลีกเลี่ยงจากอวิชชา
พ้นปราชญ์นั้นปราศจากอวิชชา
เพราะท่านรู้ว่าอวิชชาคืออวิชชาดังนั้นอวิชชาจึงไม่อาจเข้าครอบงำดวงจิตของท่าน


บทที่ 72 ใช้ความนุ่มนวล

เมื่อประชาราษฎร์ไม่เกรงกลัวการข่มเหงด้วยกำลังอำนาจ
อำนาจอันยิ่งใหญ่ก็ตกอยู่กับพวกเขาแล้วอย่าได้เหยียดหยามชีวิตความเป็นอยู่ของไพร่ฟ้า
อย่าได้รังเกียจเผ่าพันธุ์เชื้อสายของไพร่ฟ้าด้วยท่านมิได้เกลียดชังเขา
ท่านก็จะไม่ถูกเกลียดชังด้วย ดังนั้น ปราชญ์ย่อมรู้ในตน แต่ท่านก็มิได้แสดงออก รักในตน
แต่ก็มิได้สร้างเสริมตัวตนให้สูงขึ้น ปราชญ์ย่อมคัดค้านการข่มเหงด้วยกำลังอำนาจและสนับสนุนการใช้ความนุ่มนวล



บทที่ 73 ร่างแหแห่งฟากฟ้า

ผู้กล้าหาญที่มุทะลุดุดันจะต้องตาย ผู้กล้าหาญที่ไม่บ้าบิ่นจะคงชีวิตอยู่
ในระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ บางครั้งเกิดประโยชน์บางครั้งเกิดโทษ หากสวรรค์ชิงชังคนบางคน
ใครจะรู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด แม้แต่ปราชญ์ยังถือว่าเป็นปัญหาที่ยากยิ่ง
ทางแห่งเต๋านั้นมีความดีเด่น ในการได้ชัยโดยมิได้ต่อสู้ ได้รับโดยมิต้องพูด
มาหาโดยมิต้องเรียก สำเร็จผลโดยมิต้องวางแผนกระทำ
ร่างแหแห่งฟากฟ้านั้นกว้างใหญ่ไพศาลถึงแม้แหจะมีตาห่าง
แต่เมื่อครอบคลุมสรรพสิ่งอยู่แล้ว ก็ไม่มีอะไรสามารถเล็ดลอดออกไปได้


บทที่ 74 การลงโทษ

ประชาราษฎร์ไม่พรั่นพรึงต่อความตาย เหตุใดจึงพยายามเอาโทษประหารไปสยบ
หากราษฎรกลัวความตายจริง เมื่อจับผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยการประหาร
เหตุใดจึงมีผู้กระทำผิดต่อไปอีก มักจะมีผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการ ทำหน้าที่ตัดสินลงโทษ
อยู่เหนือความเป็นความตายของผู้คน
ผู้ที่ดำรงตำแหน่งตุลาการ เปรียบได้กับ สามัญชนผู้ถือขวานไปตัดต้นไม้ แทนช่างไม้ผู้ยิ่งยง
ผู้ที่ถือขวานแทนช่างไม้ ยากนักที่จะหนีพ้น บาดแผลจากคมขวาน


บทที่ 75 ไม่เข้ายุ่งเกี่ยว

เมื่อราษฎรอดอยากยากแค้น เพราะผู้ปกครองเก็บภาษีมากเกินไป
ราษฎรที่หิวโหยย่อมไม่อาจปกครองได้
นี่เกิดจากผู้ปกครองเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากเกินไป ทำให้ปกครองพลเมืองไม่ได้
พลเมืองต่างไม่กลัวความตายเพราะความกระวนกระวายที่จะหาเลี้ยงชีวิต นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้เขาไม่กลัวตาย
ผู้ที่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตของประชาราษฎร์ เท่ากับช่วยยกระดับชีวิตของราษฎรให้สูงขึ้น


บทที่ 76 ของสูง
เมื่อคนเกิดมาใหม่ๆ นั้นร่างกายมักอ่อนนุ่ม เมื่อตายกลับแข็งกระด้าง
เมื่อสัตว์และพืชมีชีวิตอยู่มันจะอ่อนหยุ่นเมื่อตายมันกลับแข็งและแห้ง
ความแข็งกระด้างเป็นคุณลักษณะของความตาย
ความอ่อนนุ่มเป็นคุณลักษณะของความมีชีวิต
ดังนั้น เมื่อกองทัพแข็งแกร่งเกินไป ก็จะพ่ายในสมรภูมิ
ถ้าต้นไม้แข็งแกร่งเกินไปก็จะถูกตัดโค่นลง ความแข็งความกระด้างเป็นของต่ำ ความอ่อนความนุ่มเป็นของสูง



บทที่ 77 วิถีแห่งเต๋า

วิถีแห่งเต๋านั้น ไม่คล้ายกับคันธนูที่โก่งเตรียมจะยิงหรอกหรือ
ปลายทั้งสองลดต่ำลงมาและตรงกลางพองขึ้นความยาวอันมีพลังนั้นหดสั้น
ความยาวอันไร้พลังนั้นขยายยาว ด้วยหนทางแห่งฟากฟ้าเท่านั้น
ที่นำเอาส่วนเกินจากผู้ที่มีมาก ไปให้กับผู้ที่มีไม่เพียงพอ
แต่หนทางของคนธรรมดาหาเป็นเช่นนั้น
ไม่คนสามัญมักจะชิงเอาจากผู้มีน้อย ไปเพิ่มพูนให้แก่ผู้มีมาก
ผู้ใดเล่าที่มีพอเพียง และแบ่งปันแจกจ่ายให้แก่โลกทั้งโลก
มีเพียงแต่บุคคลผู้ดำเนินตามวิถีแห่งเต๋าเท่านั้น
ดังนั้นปราชญ์ย่อมกระทำกิจแต่ไม่เข้าครอบครอง
ก่อเกิดผลสำเร็จแต่ไม่ต้องการความเชื่อถือ ด้วยท่านไม่ปรารถนาเป็นผู้เด่นยิ่งกว่าใครๆ


บทที่ 78 ความอ่อนโยนมีชัยต่อทุกสิ่ง

ไม่มีสิ่งใดจะอ่อนนุ่มไปกว่าน้ำ
แต่ไม่มีสิ่งใดจะยิ่งไปกว่าน้ำ ในการมีชัยเหนือสิ่งที่แข็ง
นับว่าไม่อาจหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบ ไ
ม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทน ความอ่อนแอมีชัยต่อความแข็งแรง
ความอ่อนโยนมีชัยต่อความแข็งกระด้าง ไม่มีใครที่ไม่รู้ แต่ไม่มีใครที่ปฏิบัติ
ดังนั้นปราชญ์จึงกล่าวไว้ว่า ผู้ที่สามารถทนรับการใส่ร้ายของโลกได้
สมควรที่จะเป็นผู้ดูแลรักษาอาณาจักร
ที่ทนแบกรับบาปโทษของโลกไว้ได้ สมควรเป็นกษัตริย์ปกครองโลก
คำพูดที่ตรงไปตรงมานั้นดูคล้ายเป็นคำที่บิดเบี้ยวและเป็นคำเท็จ



บทที่ 79 หนทางอันยุติธรรม

เมื่อความโกรธขึ้งถูกไกล่เกลี่ยลงได้ แน่ใจได้ว่ายังมีบางส่วนหลงเหลืออยู่
ดังนี้ จะนับได้ว่ามันจบสิ้นลง ด้วยความดีได้อย่างไร
ดังนั้นปราชญ์ย่อมเป็นผู้อ่อนข้อให้ ในการเจรจาทำความตกลงและจะไม่ยอมเป็น
ผู้เอาเปรียบในการทำสัญญา หนทางของผู้มีคุณ
ความดีคือการเจรจาตกลง หนทางของผู้ไร้คุณความดีคือการบังคับขู่เข็ญ
หนทางแห่งเต๋านั้นยุติธรรมยิ่ง มันจะอยู่เคียงข้างของผู้ที่มีความดีงาม


บทที่ 80 ประเทศในฝัน

หวังให้ประเทศเล็กที่มีพลเมืองน้อย
มีอาหารพอที่จะเลี้ยงดูพลเมือง มากกว่าที่เขาต้องการถึงสิบเท่าร้อยเท่า
ให้ประชาชนเห็นคุณค่าของชีวิต
และไม่ท่องเที่ยวพเนจรไปไกล ถึงแม้จะมีพาหนะเรือและรถก็ไม่มีใครปรารถนาจะขับขี่
ถึงแม้จะมีเกราะและอาวุธ ก็ไม่มีโอกาสจะใช้ ใ
ห้กลับไปใช้การจดจำเรื่องราวด้วยการผูกเงื่อนแทนการเขียนหนังสือ
ให้เขานึกว่าอาหารพื้นๆ นั้นโอชะ
เสื้อผ้าอันสามัญนั้นสวยงาม
บ้านเรือนธรรมดานั้นสุขสบาย
ประเพณีวิถีชีวิตนั้นน่าชื่นชม
ในระหว่างเพื่อนบ้านต่างเอาใจใส่ซึ่งกันและกันจนอาจได้ยินเสียงไก่ขันสุนัขเห่าจากข้างบ้าน
และตราบจนวันสุดท้ายของชีวิตจะไม่มีใครได้เคยออกไปนอกประเทศของตนเลย


บทที่ 81 ถ้อยคำที่แท้

คำจริงนั้นฟังดูไม่ไพเราะ คำที่ไพเราะไม่มีความจริง
คนดีไม่ได้พิสูจน์โดยการถกเถียง
คนที่ถกเถียงเก่งไม่ใช่คนดี
คนฉลาดไม่รู้มาก
คนที่รู้มากไม่ฉลาด
ปราชญ์ย่อมไม่สะสมเพิ่มพูนเพื่อตนเอง
ชีวิตของท่านมีอยู่เพื่อผู้อื่นแต่ท่านกลับยิ่งร่ำรวยขึ้น
ท่านให้บริจาคแก่ผู้อื่น แต่ท่านยิ่งมีขึ้นทับทวี
วิถีแห่งเต๋านั้น มีแต่คุณไม่เคยให้โทษ
วิถีแห่งปราชญ์นั้น มีแต่กอปรกิจให้สำเร็จ โดยไม่แก่งแย่งแข่งขัน