วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

ผู้ที่ยึดมั่นในหนทางแห่งเต๋า ย่อมหลีกเลี่ยงความเปี่ยมล้น

เหตุเพราะฟ้าและดินมิได้ดำรงอยู่เพื่อตนเอง จึงอาจอยู่ได้คงทน
เหตุว่าท่านมิได้แก่งแย่งชิงดีกับผู้ใด คำติเตียนว่าร้ายจึงมิได้แผ้วพานท่าน
ถอนตัวออกเมื่อกิจการงานได้เสร็จสิ้นลง นี่คือวิถีทางแห่งสรวงสวรรค์

….. …. ….

ผู้ที่ยึดมั่นในหนทางแห่งเต๋า ย่อมหลีกเลี่ยงความเปี่ยมล้น
และเพราะการหลีกเลี่ยงจากความเปี่ยมล้นนี้เอง ย่อมทำให้รักษาตนไว้ได้
พ้นจากความเสื่อมโทรม และมิต้องแสวงหาสิ่งทดแทน
(บทที่ 6 – 15)



บทที่ 6 มารดาอันมหัศจรรย์

มหิทธานุภาพอันล้ำลึกนั้นมิเคยดับสูญ เป็นมารดาอันมหัศจรรย์ จากทวาราแห่งมารดานี้เอง
ได้ก่อเกิดรากฐานแห่งฟ้าและดิน นานแสนนานสืบมา สิ่งนี้ยังคงดำรงอยู่ มีคุณประโยชน์มากมาย
ใช้ได้มิรู้หมดสิ้น


บทที่ 7 มิได้อยู่เพื่อตนเอง

ฟ้ามีอายุยาวนาน ดินมีอายุยาวนาน เหตุเพราะฟ้าและดินมิได้ดำรงอยู่เพื่อตนเอง จึงอาจอยู่ได้คงทน ดังนั้นปราชญ์ย่อมตั้งตนอยู่รั้งท้าย และก็จะกลับกลายเป็นหน้าสุด ละเลยตนเอง แต่กลับมีชีวิตอยู่ได้ด้วยดี เพราะปราชญ์มิได้อยู่เพื่อตนเองหรือมิใช่ตัวตนของท่านจึงถึงซึ่งความสมบูรณ์


บทที่ 8 ความดีอันสูงสุด

ความดีอันสูงสุดนั้นคล้ายกับน้ำ น้ำให้คุณแก่สรรพสิ่ง มิได้แย่งชิงสิ่งใด น้ำตั้งตนอยู่ในที่ต่ำอันทุกคนรังเกียจเหยียดหยาม ดังนั้นจึงนับว่าได้เข้าไปใกล้กับเต๋า ในการอยู่อาศัย ปราชญ์เลือกสถานที่อันควรในดวงใจ ท่านถือความสงบงัน ในความเป็นมิตร ท่านถือคุณความดี ในวาจา ท่านถือความจริงใจในการปกครอง ท่านถือความสงบเรียบร้อย ในกิจการงาน ท่านถือความสามารถ ในการกระทำ ท่านเลือกเวลาที่เหมาะสม เหตุว่าท่านมิได้แก่งแย่งชิงดีกับผู้ใด คำติเตียนว่าร้ายจึงมิได้แผ้วพานท่าน


บทที่ 9 สำรวมชีวิต

โก่งคันศรจนสุดล้า ย่อมมีเวลาที่มันจะคืนกลับ ลับดาบจนแหลมคม ย่อมมีเวลาที่มันจะทื่อเมื่อท่านมีทองและหยกอยู่เต็มห้อง ย่อมไม่อาจรักษาไว้ได้โดยปลอดภัย ภาคภูมิใจกับเกียรติยศและความมั่งคั่ง ย่อมโศกเศร้าเมื่อความตกต่ำมาถึง ถอนตัวออกเมื่อกิจการงานได้เสร็จสิ้นลง นี่คือวิถีทางแห่งสรวงสวรรค์

บทที่ 10 สู่สภาวะธรรม

รักษาดวงวิญญาณให้พ้นจากความมัวหมอง ทำจิตใจให้แน่วนิ่งเป็นหนึ่งเดียวได้หรือไม่
หายใจ อย่างละเอียดอ่อนแผ่วเบา เหมือนลมหายใจของเด็กอ่อนได้หรือไม่ ชำระล้างญาณทัศนะให้หายมืดมัว จนอาจแลเห็นกระจ่างชัดได้หรือไม่มีความรักและปกครองอาณาจักร โดยไม่เข้าไปบังคับบัญชาได้หรือไม่ ติดต่อรับรู้ และเผชิญทุกข์สุข ด้วยความสงบนิ่งไม่ทุกข์ร้อนได้หรือไม่ แสวงหาความรู้แจ้ง เพื่อละทิ้งอวิชชาได้หรือไม่ ให้กำเนิด ให้การบำรุงเลี้ยง ให้กำเนิด แต่มิได้ถือตนเป็นเจ้าของ กระทำกิจ แต่มิได้ยกย่องตนเอง เป็นผู้นำในหมู่คน แต่มิได้เข้าไปบงการ เหล่านี้คือคุณความดีอันลึกล้ำยิ่ง


บทที่ 11 ความว่างเปล่า

ล้อรถนั้นประกอบด้วยไม้สามสิบซี่ รวมกันอยู่ที่แกน วงรอบนอกของล้อและไม้ทั้งสามสิบซี่นั้น คือ ความ "มี" ดุมล้อนั้นกลับกลวง คือ ความ "ว่าง" จากความว่างนี้เอง คุณประโยชน์ของล้อก็เกิดขึ้น ปั้นดินเหนียวขึ้นเป็นภาชนะ จากความว่างเปล่าของภาชนะนี้เอง คุณประโยชน์ของภาชนะก็เกิดขึ้น เราได้ใช้ประโยชน์จากความมี และได้รับคุณประโยชน์จากความว่าง


บทที่ 12 เปลือกกับแก่น

สีทั้งห้า ทำให้ดวงตาพร่ามัว เสียงทั้งห้า ทำให้โสตประสาทเลอะเลือน รสทั้งห้า ทำให้ลิ้นชาด้าน การพนันและการล่าสัตว์ ทำให้จิตใจของคนขุ่นหมอง ของมีราคาและหายาก ทำให้เกิดอันตรายแก่ความประพฤติของผู้คน ดังนั้นปราชญ์จึงกระทำการ เพียงเพื่อให้ท้องอิ่มเท่านั้น มิใช่เพื่อความสำราญของ ตา หู และลิ้น ท่านละเลยในรูปแบบอันเป็นเปลือก หันมาเอาใจใส่ในแก่นแท้

บทที่ 13 การยกย่องและการดูแคลน

เมื่อได้รับการยกย่องและการดูแคลน ย่อมทำให้ผู้คนหวาดผวา สิ่งที่เราชมชอบและสิ่งที่เรากลัวเกรง ย่อมอยู่ภายในตัวของเราเอง
เมื่อได้รับการยกย่อง และเมื่อได้รับการดูแคลน ย่อมทำให้ผู้คนหวาดผวา นี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ผู้ที่ได้รับการยกย่องจากเบื้องบน ย่อมตื่นเต้นเมื่อได้รับ และย่อมหวาดผวาเมื่อสูญเสียสิ่งที่เราชมชอบและสิ่งที่เรากลัวเกรง ย่อมอยู่ภายในตัวของเราเอง นี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า เมื่อเราไม่นำพาต่อตัวตน มีอะไรที่เราจะต้องเกรงกลัวอีก ดังนั้น ผู้ที่ให้คุณค่าแก่โลกเทียบเท่ากับตน ย่อมได้รับความไว้วางใจให้ปกครองโลก และผู้ที่รักโลกเทียบเท่าตนย่อมได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดูแลโลก

บทที่ 14 ตามรอยเต๋า

จ้องมอง แต่มิอาจเห็น นี่เรียกว่า ไร้รูป สดับฟัง แต่มิอาจได้ยิน นี่เรียกว่า ไร้เสียง ไขว่คว้า แต่มิอาจจับต้อง นี่เรียกว่า ไร้ตัวตน
สิ่งทั้งสามนี้อยู่เหนือคำอธิบายใดๆ ทั้งหมดนี้ประสานกลมกลืนกัน และกลายเป็นหนึ่งเดียว เมื่อปรากฏขึ้น ก็ปราศจากแสงสว่าง
เมื่อจางหายไป ก็ปราศจากความมืด เป็นรูปที่ไร้รูป เป็นตัวตนที่ว่าง มีความต่อเนื่องและไม่แปรผัน สิ่งนี้มิอาจตั้งนิยามให้ได้
หวนกลับไปสู่อาณาจักรแห่งความว่างเปล่า จึงเรียกว่า ความไร้ มีภาพพจน์แห่งความว่างเปล่า จึงเรียกว่า ความว่าง ตามติดไปเบื้องหน้า แต่มิอาจเห็นหน้า ติดตามไปเบื้องหลังแต่มิอาจเห็นหลังผู้ที่ปฏิบัติภารกิจในปัจจุบัน โดยยึดมั่นในหลักการแห่งเต๋าแต่โบราณกาล
ย่อมสามารถหยั่งรู้ถึงต้นกำเนิดเดิมนี่คือวิถีแห่งเต๋า

บทที่ 15 ผู้ชาญฉลาดในสมัยโบราณ

บุคคลผู้ชาญฉลาดแต่โบราณกาล เปี่ยมล้นไปด้วยปรีชาญาณ ล้ำลึกไปด้วยความรอบรู้ ลึกซึ้งจนมิอาจหยั่งถึง และด้วยมิอาจหยั่งถึงนี้เองจึงจำเป็นจะต้องบรรยายลักษณะดังนี้ มีความรอบคอบ คล้ายกับกำลังข้ามแม่น้ำที่แข็งตัวในฤดูหนาว มีความระมัดระวังคล้ายกับกำลังป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในทุกที่ มีความสำรวม คล้ายกำลังปฏิบัติตนเป็นอาคันตุกะ มีความอ่อนน้อม คล้ายกับหิมะที่เริ่มจะละลาย มีความเปิดเผยซื่อตรง คล้ายกับไม้ที่ยังไม่ได้แกะสลัก มีความว่าง คล้ายกับหุบเขา และโง่งม คล้ายกับสายน้ำอันขุ่นข้น
ใครจะสามารถสงบอยู่ได้ ภายในโลกอันสับสนคล้ายโคลนตมด้วยอาศัยความสงบนิ่งก็กลับกระจ่างชัดขึ้น ใครจะสามารถสงบอยู่ได้นาน จนอาจนำไปสู่การกลับฟื้นคืนชีวิต ผู้ที่ยึดมั่นในหนทางแห่งเต๋า ย่อมหลีกเลี่ยงความเปี่ยมล้น และเพราะการหลีกเลี่ยงจากความเปี่ยมล้นนี้เอง ย่อมทำให้รักษาตนไว้ได้ พ้นจากความเสื่อมโทรม และมิต้องแสวงหาสิ่งทดแทน


หมายเหตุ ปัจจุบัน คัมภีร์ “เต้าเต๋อจิง” มีอิทธิพลต่อในทุกสังคมทั่วโลก ทั้งในด้านการเมืองการปกครอง กฎหมาย ธุรกิจ และการครองเรือน มีการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากกว่า 250 สำนวน สำหรับ วิถีแห่งเต๋า ฉบับนี้เป็นคำแปลของคุณ พจนา จันทรสันติ ที่แปลจากภาษาอังกฤษผนวกกับความรู้ของผู้แปล ทำให้ได้ใจความสวยคม เข้าใจง่ายและอ่านรู้เรื่องที่สุด หนังสือวิถีแห่งเต๋าตอนนี้หาซื้อยากแล้วค่ะ โชคดี หากเจอใน pantown.com โดยคุณ: เซโร่ [23 พ.ค. 51 8:33] ได้กรุณารวบรวมมาโพสต์ไว้เพื่อประโยชน์แพร่หลาย ขอขอบคุณอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้ค่ะ